Quantcast
Channel: ข่าว
Viewing all 20494 articles
Browse latest View live

บทบก.หนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์ เขียนถึงกรณี 'ตั้ง อาชีวะ'

$
0
0

บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์วิพากษ์ 'ตั้ง อาชีวะ'แสดงท่าทีเย้ยหยันท้าทายทางการไทย ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่การแสดงออกแบบเด็กๆ ก็ไม่ควรต้องถูกกระทบต่อการลี้ภัย และเรียกร้องทางการนิวซีแลนด์ช่วยเรียกร้องให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย


12 ม.ค. 2558 หนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์เฮอรัลด์ซึ่งเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์เผยแพร่บทบรรณาธิการถึงกรณีของเอกภพ เหลือรา หรือ 'ตั้ง อาชีวะ'ผู้ที่ต้องสงสัยกระทำความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งไปพำนักอยู่ที่นิวซีแลนด์เมื่อ 2 ปีก่อน

โดยบทบรรณาธิการนิวซีแลนด์เฮอรัลด์ระบุว่าการที่เอกภพ เหลือรา โพสต์รูปภาพหนังสือเดินทางของตัวเองลงในเฟซบุ๊คไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น มันเป็นแค่การเย้ยท้าทายให้ทางการไทยสั่งเพิกถอนเอกสารดังกล่าว แต่การกระทำเลินเล่อเหมือนเด็กๆ ของเขาก็ไม่ความเกี่ยวข้องใดๆ กับการตัดสินอนาคตของเขาในประเทศนิวซีแลนด์ เพราะเรื่องนี้ควรตัดสินจากความถูกต้องตามกระบวนการของการได้มาซึ่งสถานะผู้ลี้ภัยของเขาเท่านั้น โดยจากข้อมูลพื้นฐานถือว่ากรณีนี้น่าสนใจอย่างมาก

บทบก. ระบุว่าเอกภพได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากองค์กรข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้วและออกจากประเทศผ่านทางกัมพูชา เขาบอกว่าเขาหลบหนีการดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งห้ามการกล่าวอาฆาตมาดร้ายและดูหมิ่นพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทำความปิดจะถูกสั่งจำคุกมากที่สุด 15 ปี ก่อนหน้านี้เอกภพได้กล่าวแสดงความคิดเห็นในปี 2556 ในฐานะผู้เข้าร่วมชุนนุมกับกลุ่มเสื้อแดงและเขาก็หนีออกจากไทยหลังจากที่เผด็จการทหารโค่นล้มรัฐบาลเก่าจากนั้นเอกภพจึงพำนักอยู่ที่นิวซีแลนด์ตามโควต้าของระบบผู้ลี้ภัย

นิวซีแลนด์เฮอรัลด์ระบุว่ากฎหมายห้ามการวิพากษ์วิจารณ์พระบรมวงศานุวงศ์ถือเป็นประเด็นสำคัญในด้านเสรีภาพสื่อซึ่งการห้ามวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้เหมือนกฎหมายที่มาจากช่วงยุคกลาง นิวซีแลนด์เฮอรัลด์ระบุในบทบก.อีกว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังถือเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่รัฐบาลเผด็จการทหารในไทยก็ยังคงใช้กฎหมายนี้เล่นงานคนอื่นมากขึ้น

บทบก.ของหนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์ระบุอีกว่า ในความจริงแล้วเอกภพเป็นเหยื่อคนหนึ่งของความขัดแย้งในประเทศไทยซึ่งจะไม่หมดลงจนกว่าจะมีประชาธิปไตยหยั่งรากลึกจริงๆ โดยในตอนนี้ยังถือว่าห่างไกลมาก รัฐบาลก่อนหน้านี้ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเอกภพและพรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุนเป็นผู้มาจากการเลือกตั้งโดยได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่จากกลุ่มคนจนและคนในชนบทที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของพรรคที่มีเรื่องหลักประกันสุขภาพและกองทุนหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตามรัฐบาลของยิ่งลักษณ์เป็นเช่นเดียวกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเสียงส่วนใหญ่ในประเทศก่อนหน้านี้คือไม่ได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำดั้งเดิมและกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง คนกลุ่มเหล่านี้มีเป้าหมายต้องการสร้างความไม่มั่นคงให้กับประเทศจนทำให้กองทัพหาทางออกอื่นไม่ได้นอกจากจะเข้าแทรกแซงโดยไม่สนใจว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศจะเป็นอย่างไร คนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการทำให้เกิดการรัฐประหารมาแล้วหลายครั้งนับตั้งแต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475 ซึ่งในแผนการสร้างความวุ่นวายเพื่อเรียกร้องรัฐประหารครั้งล่าสุดมีการสร้างความปั่นป่วนทำลายการเลือกตั้งส.ส. เป็นหนึ่งในแผนการด้วย

ทางการไทยอ้างว่าเอกภพใช้ประโยชน์จากสภาพผู้ลี้ภัยที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ออกให้เป็นไปเพื่อการเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจนเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในประเทศ อีกทั้งยังอ้างอีกว่าเรื่องนี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ ซึ่งทางนิวซีแลนด์เฮอรัลด์เสนอว่ารัฐบาลนิวซีแลนด์ไม่ควรเชื่อสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทหารของไทยพูด แต่ควรจะช่วยกดดันให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในไทยโดยเร็ว

เรียบเรียงจาก

Editorial: Thai refugee right to push for democracy, The new Zealand Herald, 12-01-2015
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สืบพยานคดี 112 ชายทำลายพระบรมฉายาลักษณ์นัดแรก จนท.ตร.ผู้จับกุม ชี้จำเลยมีอาการคล้ายคนมึนเมา

$
0
0

คดี 112 ชายเชียงรายทำลายพระบรมฉายาลักษณ์สืบพยานโจทก์นัดแรก จนท.ตำรวจ สภ.เทิง ผู้จับกุมตัวจำเลยขึ้นเบิกความศาลทหาร ชี้ขณะจับกุมจำเลยมีอาการคล้ายคนมึนเมา ไม่เหมือนคนปกติ แต่ยังพูดจาโต้ตอบรู้เรื่อง

12 ม.ค.58 ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย นัดสืบพยานโจทก์ในคดีระหว่างอัยการศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย กับนายสมัคร (ขอสงวนนามสกุล) ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะหรือหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร เหตุจากการที่จำเลยได้ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่จัดสร้างไว้บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน

ก่อนหน้านี้ ฝ่ายจำเลยได้ให้การต่อศาลยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยที่ทนายความได้ยื่นคำร้องประกอบการพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดไปโดยเหตุที่อยู่ในภาวะเป็นจิตเภท จึงขอให้ศาลยกฟ้อง ให้รอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษ แต่พนักงานอัยการศาลทหารได้คัดค้านคำร้องดังกล่าว ด้วยเห็นว่าจำเลยไม่ได้รับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทั้งหมด และแถลงจะขอนำพยานหลักฐานมาสืบ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ในนัดนี้ โจทก์ได้นำดาบตำรวจราชันย์ จันทร์สุข ผู้บังคับการหมู่งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเทิง ขึ้นเบิกความ โดยด.ต.ราชันย์เป็นผู้ทำการจับกุมและนำตัวจำเลยส่งพนักงานสอบสวน

ด.ต.ราชันย์เบิกความต่อศาลถึงเหตุในคดีนี้เมื่อวันที่ 8 ก.ค.57 เวลา 20.30 น. ที่ต.ปล้อง อ.เทิง จ.เชียงราย ตนได้รับแจ้งเหตุจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสันป่าสัก ตำบลปล้อง ว่ามีบุคคลกำลังพยายามทำลายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติทางเข้าหมู่บ้าน เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ พบจำเลยกำลังฉีกดึงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ลงมากองกับพื้น และยังจับพานพุ่มเงินทองที่วางสักการะพระบรมฉายาลักษณ์มากองกับพื้น เมื่อนายสมัครยอมรับว่าเป็นคนทำลายจริง จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ยึดของกลาง และนำตัวส่งพนักงานสอบสวน

ด.ต.ราชันย์เบิกความด้วยว่าขณะจับกุมจำเลยมีอาการคล้ายคนมึนเมา โดยมีกลิ่นเหล้าจากตัวจำเลย แต่ยังสามารถพูดจาโต้ตอบได้รู้เรื่อง ในวันจับกุม ด.ต.ราชันต์ได้ขอให้จำเลยไปตรวจหาสารเสพติดด้วย แต่จำเลยไม่ยอมไป ส่วนสาเหตุที่จะส่งตัวจำเลยไปตรวจหาสารเสพติด เพราะจำเลยมีท่าทางไม่เหมือนคนปกติ จึงต้องการจะส่งไปตรวจให้รู้แน่ว่าจำเลยเมาเหล้าหรือสารเสพติด แต่ไม่ทราบว่าจำเลยมีอาการทางจิตมาก่อนหรือไม่

เมื่อเสร็จสิ้นพยานปากนี้ ศาลได้นัดหมายสืบพยานโจทก์ปากต่อไปในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 8.30 น.

สมัครให้ข้อมูลกับทนายความเพิ่มเติมด้วยว่าทุกวันนี้ ตนยังคงมีอาการหูแว่วอยู่บ่อยครั้งเมื่ออยู่คนเดียว โดยมีอาการเหมือนมีคนมากระซิบ หรือเสียงคนจับกลุ่มพูดกันอยู่ข้างหู ทำให้ยังต้องกินยารักษาอยู่ทุกวัน และปัจจุบันถูกนำตัวไปอยู่ในแดนพยาบาลภายในเรือนจำ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์ ถ่ายรูปกับเด็กๆ ซึ่งมาขอบคุณนโยบายป้องกันควันบุหรี่

$
0
0

เลขาธิการคุรุสภานำศิลปินและนักเรียนเข้าพบเพื่อมอบ "ดอกกล้วยไม้"สัญลักษณ์วันครูให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนเข้าประชุม ครม. ขณะเดียวกันมีคณะครูพานักเรียนอนุบาลเด่นหล้ามาขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีนโยบายป้องกันเด็กและเยาวชนจากควันสูบบุหรี่

13 ม.ค. 2558 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานวันนี้ (13 ม.ค.) ว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานการประชุม ได้พบกับ นายอำนาจ สุนทรธรรม เลขาธิการคุรุสภา นำคณะนักเรียน นักศึกษาพร้อมศิลปินดาราเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อนำดอกกล้วยไม้ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำวันครูมามอบให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เนื่องในวันครู ที่จะถึงในวันที่ 16 มกราคม ที่หน้าตึกบัญชาการ 1 นอกจากนี้ยังมีคณะผู้แทนจากมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จากโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า และโรงเรียนนวมินทราชูทิศ นครปฐม เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อมอบโปสการ์ดให้กำลังใจ และขอบคุณนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่ได้มีนโยบายในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสูบบุหรี่ และยาเสพติด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ร่วมร้องเพลง “วันพรุ่งนี้” ร่วมกับเด็กๆ ด้วย พร้อมกล่าวขอบคุณที่ให้กำลังใจ และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

นอกจากนี้ตัวแทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อมอบเข็มกลัดตราสัญลักษณ์ปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งขณะนี้มีการจัดแพคเกจท่องเที่ยว 14 กลุ่ม อาทิ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมทั้งให้สื่อมวลชนร่วมกันประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิดเพจ ‘UNHCRThailand’ แล้ว หลังถูกถล่มจี้ประเด็น ‘ตั้ง อาชีวะ’ ประกาศเควสท์ถัดไปกดดันพ้นไทย

$
0
0

หลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยบางส่วนเข้าไปจี้ถามประเด็นการให้สถานะผู้ลี้ภัย เอกภพ หรือ ‘ตั้ง อาชีวะ’ ผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดตามมาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘UNHCRThailand’ ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย  รวมทั้งประกาศตัดเงินบริจาค จะถึงขู่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ของ UNHCR ที่เข้ารับการขอบริจาค (อ่านรายละเอียด)

ล่าสุดวันนี้ (13 ม.ค.58) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่สามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กแฟนเพจดังกล่าวได้แล้ว

หลังจากมีข่าวการปิดตัวของเพจ UNHCRThailand เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘V For Thailand’ ได้โพสต์ประกาศความสำเร็จว่า “อย่าดูถูกคนไทย” พร้อมชักชวนผู้ใช้เฟซบุ๊ก กดดัน UNHCR ให้ออกไปจากผืนแผ่นดินไทย ด้วย

โดยก่อนหน้านั้นเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘V For Thailand’ ได้โพสต์เชิญชวนให้ ยกเลิกการบริจาคเงินเข้า UNHCR ด้วย พร้อมเผยแพร่ช่องทางการยุติการบริจาคดังกล่าวด้วย

จากการตรวจสอบยังพบเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีชื่อ ‘Unhcr Thailand’ มีผู้กดถูกใจประมาณ 200 กว่าบัญชี โดยไม่มีการโพสต์เนื้อหาอะไรในเพจ แต่พบผู้เข้าไปโพสต์ด่าทอองค์กร UNHCR ด้วย

สำหรับการดำเนินงานของ UNHCR ในประเทศไทย ในเว็บไซต์ ระบุถึง ข้อเท็จจริงเบื้องต้น ว่า รัฐบาลไทยได้เชิญยูเอ็นเอชซีอาร์เข้าร่วมดำเนินงานในประเทศในปี พ.ศ. 2518 เมื่อผู้ลี้ภัยจำนวนหลายแสนคนจากกัมพูชา ลาว และเวียดนามหลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทย เหตุการณ์นั้นถูกเรียกกันว่า วิกฤติผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน ผู้ลี้ภัยจำนวนมากกว่า 1,300,000 คนได้รับการช่วยเหลือจากประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหลายปี

ในวันนี้มีผู้ลี้ภัยที่ได้รับการลงทะเบียนแล้วราว 95,000 คนและผู้ขอลี้ภัยอีกราว 9,000 คนในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยจากพม่า ส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่ากะเหรี่ยงแดง พวกเขาพักอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวจำนวนเก้าแห่งในสี่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า รัฐบาลไทยเป็นผู้ดำเนินการในค่ายทุกแห่ง โดยได้รับความช่วยเหลือเกือบทั้งหมดจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ในขณะที่ยูเอ็นเอชซีอาร์มุ่งเน้นในเรื่องการให้ความคุ้มครองและโครงการดำเนินงานที่ทำให้แน่ใจได้ว่าผู้ลี้ภัยมีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยและได้รับการรักษาความปลอดภัยพอสมควรภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปช.อุบลฯ เตรียมจัดเวทีปฏิรูป ดึงสื่อท้องถิ่นกระตุ้น ปชช.มีส่วนร่วม

$
0
0

สปช.อุบลราชธานีประชุมส่วนราชการ เตรียมจัดเวทีปฏิรูประดับตำบล 120 เวที ฟังความเห็นประชาชน ดึงสื่อท้องถิ่นกระจายข่าวสร้างความเข้าใจ กระตุ้นประชาชนมีส่วนร่วมปฏิรูปประเทศ

13 ม.ค.2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีการประชุมร่วมระหว่างสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จังหวัดอุบราชธานี กับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมประจำจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดอุบลราชธานีที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือในการจัดเวทีปฏิรูปประเทศไทย

นิมิต สิทธิไตรย์  สปช.จังหวัดอุบลราชธานี และประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ประจำจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ในช่วงนี้การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เริ่มดำเนินการในระดับพื้นที่ตามส่วนภูมิภาค โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รับฟังความคิดเห็นและคณะกรรมาธิการวิสามัญด้านต่างๆ ทั้ง 18 ประเด็น ในเบื้องต้นจะมีการจัดเวที สปช.เสียงประชาชน ในวันศุกร์ที่ 16 มกราคม 2558 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี รวมทั้งจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ระดับจังหวัด 1 ครั้งและระดับอำเภอ อีก 10 ครั้ง นอกจากนั้นแล้ว จะได้ประสานงานกับ กอ.รมน.จังหวัด ที่จะมีการจัดเปิดเวทีการปฏิรูปในระดับตำบล อีกกว่า 120 เวทีด้วย

นิมิต กล่าวว่า  สปช.อุบลราชธานี ได้ดำเนินโครงการสื่อท้องถิ่นร่วมใจสื่อสารการปฏิรูป  ที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบการทำงานร่วมกันของสื่อมวลชนท้องถิ่นกับงานรับฟังความคิดเห็นในการปฏิรูป โดยจะจัดประชุมสื่อมวลชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว และเสียงทางสายในชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารการปฏิรูปในด้านต่างๆ รวมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมเวทีการรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศว่า ในอีก 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า ต้องการให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างไรบ้าง รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นต่อการปฏิรูปและแก้ไขปัญหาในระยะสั้นๆ เช่น การป้องกันแก้ไขปัญหาการซื้อขายเสียงในการเลือกตั้ง ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ ซึ่งจะมีการประมวลวิเคราะห์ข้อมูลความคิดเห็นโดยทีมวิชาการของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก่อนเสนอให้กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญในกรณีที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และจะจัดส่งประเด็นที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมาธิการฯ อีก 18 คณะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านนั้นๆ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

iLaw ตอน1 : ภาพรวม-ภาพลึกหลังรัฐประหาร การเรียกรายงานตัว คุมตัว บางกรณีมีซ้อม

$
0
0

ชื่อเดิม:สรุปสถานการณ์ปี 2557 1/5: การเรียกบุคคลไปรายงานตัว การจับกุมและการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก

 

หลังการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 บรรยากาศทางการเมืองที่มีความขัดแย้งสูงและมีการชุมนุมขนาดใหญ่ต่อเนื่องยาวนานเงียงสงบลงไป ท่ามกลางสถานการณ์ที่ มีผู้ถูกเรียกไปรายงานตัวอย่างน้อย 666 คน มีผู้ที่ถูกจับกุมอย่างน้อย 362 คน จำนวนผู้ที่ถูกเรียกและถูกจับรวมกันอย่างน้อย 976 คน มีผู้ถูกจับกุมจากการออกมาชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอย่างน้อย 134 คน สถิติการเรียกรายงานตัวและการจับกุมมากน้อยขึ้นอยู่กับบรรยากาศทางการเมือง และปริมาณกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารในช่วงเวลานั้นๆ 

ระหว่างการควบคุมตัวด้วยอำนาจกฎอัยการศึก ผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาติ หรือทนายความ ไม่มีการเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว นอกจากนี้ก็จะถูกสอบสวนเพื่อหาข้อมูล หาหลักฐานในการดำเนินคดี มีการพูดคุยเพื่อ "ปรับทัศนคติ"ถูกบังคับใช้เซ็นเอกสารยินยอมยุติการแสดงความคิดเห็นและการเคลื่อนไหวทางการเมือง หลายคนถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีหลังการควบคุมตัว มีรายงานการซ้อมทรมานระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 28 กรณี 

มีเครื่องมืออย่างน้อยสองชิ้น ที่คสช.ใช้เพื่อสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เงียบสงบ 

เครื่องมือชิ้นแรก คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ซึ่งประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ให้ทหารมีอำนาจจับกุมบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายศาล สามารถเข้าจับกุมได้แม้ในที่รโหฐาน ในเวลาใดก็ได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น สามารถควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยไม่ต้องมีเหตุผล ไม่ต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ไม่มีสิทธิติดต่อญาติ ไม่มีสิทธิพบทนายความ

เครื่องมือชิ้นที่สอง คือ การออกคำสั่งของ คสช. เรียกให้บุคคลมารายงานตัว โดยมีทั้งการประกาศออกอากาศทางโทรทัศน์ การโทรศัพท์เรียก การส่งจดหมายเชิญ หรือการไปตามหาตัวที่บ้านพัก คนที่มีลักษณะเป็นแกนนำการเคลื่อนไหว หรือถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวจะถูกเรียกไปพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติ หรือ ขอความร่วมมือให้ยุติความเคลื่อนไหวเพื่อความสงบ บางคนถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก 

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ เริ่มบันทึกสถิติการเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัวและการจับกุมบุคคล ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โดยเก็บข้อมูลจากคำสั่งคสช. เรื่องให้บุคคลมารายงานตัว รายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ การส่งข่าวจากเครือข่ายในพื้นที่ต่างจังหวัด การสัมภาษณ์ผู้ถูกจับกุมและถูกเรียกรายงานตัว การเข้าเยี่ยมผู้ถูกจับกุมตามสถานที่คุมขังและเรือนจำ ฯลฯ โดยบันทึกเฉพาะข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถยืนยันจากต้นทางของข้อมูลได้เท่านั้น ข้อมูลที่บันทึกได้จึงเป็นตัวเลขขั้นต่ำ “เท่าที่ทราบ” เท่านั้น ไม่ใช่สถิติที่ครอบคลุมข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น

ทวนความจำ เกิดอะไรขึ้นบ้างหลัง 22 พฤษภาฯ

พฤษภาคม : ยึดอำนาจพร้อมประกาศเรียกรายงานตัว ห้ามชุมนุม ห้ามต่อต้าน

หลังการรัฐประหาร คสช. ประกาศเรียกให้แกนนำกลุ่มทางการเมือง นักการเมือง และนักกิจกรรมเข้ารายงานตัว นอกจากนั้นยังจับกุมแกนนำของกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมไปถึงจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร คนจำนวนมากถูกควบคุมตัวไว้ 7 วันตามกฎอัยการศึก หรือมากน้อยกว่านั้น นอกจากนี้ ผู้ถูกเรียกรายงานตัวบางคนก็เปิดเผยภายหลังว่า พวกเขาถูกสอบสวนอย่างหนักระหว่างถูกควบคุมตัว

พฤติการณ์การจับกุมเท่าที่พบเห็น คือพฤติการณ์การจับกุมผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีทั้งการใช้กำลังจับกุมต่อหน้าประชาชน หรือการใช้ภาพถ่ายเป็นหลักฐานและตามไปจับกุมตัวภายหลัง นอกจากการจับกุมแล้ว คสช. ยังใช้วิธีการเรียกบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นแกนนำจัดการชุมนุมไปรายงานตัวเพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง ไม่ให้ปลุกระดมคนออกมาเคลื่อนไหวได้อีก

ตั้งแต่วันที่ 22 – 31 พฤษภาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 139 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีความเกี่ยวของกับพรรคเพื่อไทย หรือ นปช. 84 คน / กลุ่มที่มีความเกี่ยวของกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือ กปปส. และ คปท. 9 คน / กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักเขียน ดีเจ นักกิจกรรม 7 คน / กลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 33 คน / ยังไม่สามารถระบุได้ 6 คน 

คสช. เรียกบุคคลไปรายงานตัวอย่างน้อย 234 คน โดยไม่ระบุเหตุของการเรียก ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ทั้งหมดถือเป็นอำนาจการตัดสินใจของ คสช. แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งแบ่งเป็นประกาศเรียกผ่านทางโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ อย่างน้อย 189 คน และมีหมายเรียกให้ไปรายงานตัวในท้องถิ่น อย่างน้อย 45 คน

มิถุนายน : ชูสามนิ้ว กินแซนด์วิช ผิดกฎหมาย

เดือนมิถุนายน 2557 การแสดงออกเพื่อต่อต้านการรัฐประหารยังคงร้อนแรง มีการรวมตัวแสดงออกในหลายพื้นที่ เช่น ห้างสยามพารากอน ห้างเทอร์มินัล 21 และมีการใช้สัญลักษณ์ “ชูสามนิ้ว” แสดงการต่อต้านการรัฐประหาร มีการนำหนังสือ 1984 และการกินแซนด์วิช มาเป็นสัญลักษณ์ในการจัดกิจกรรมด้วย แม้กลุ่มต่อต้านรัฐประหารจะเลือกวิธีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์มากกว่าการชุมนุมใหญ่อย่างที่ผ่านมา แต่ก็ยังถูกจับและเป็นเหตุให้ถูกตั้งข้อหาฐานชุมนุมทางการเมืองได้

ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 30 มิถุนายน มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 67 คน เป็นกลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 35 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 131 คน โดยประกาศเป็นทางการผ่านทางโทรทัศน์ 96 คน และมีหมายเรียกรายงานตัวในท้องถิ่น 35 คน มีอย่างน้อย 3 คน ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 หลังควบคุมตัวครบ 7 วัน

กรกฎาคม : ยุทธศาสตร์ คสช. บรรลุผล ผู้ชุมนุมลดลง แต่การเชิญตัวยังไม่ลด

หลังผู้ออกมาแสดงการต่อต้านรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน ก็มีผู้ถูกเรียกตัวและถูกจับกุมจำนวนมาก โดยไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนว่าใครบ้างที่จะถูกจับกุม จะถูกกักตัวไว้กี่วัน และเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่จะถูกดำเนินคดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ก็ต้องขึ้นศาลทหาร

เงื่อนไขดังกล่าวจึงอาจเป็นปัจจัยให้การชุมนุมต่อต้านรัฐประหารลดลง สังเกตได้จากจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมในในเดือนนี้ซึ่งมี 2 คน

แต่ทว่า การเรียกพบบุคคลตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนประชาธิปไตย ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การเรียกตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น “กลุ่มดาวดิน” เพื่อพูดคุยขอให้ยุติการเคลื่อนไหวในประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ทองคำใน จ.เลย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 กรกฎาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 17 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย หรือ นปช. 8 คน / กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักเขียน ดีเจ นักกิจกรรม 4 คน / กลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 2 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 28 คน โดยประกาศเป็นทางการผ่านทางโทรทัศน์ 7 คน และมีหมายเรียกตามท้องถิ่น อย่างน้อย 21 คน

สิงหาคม : ประเด็นไม่เกี่ยวกับการเมือง คสช. ก็ห้ามแสดงออก

ในเดือนสิงหาคม ประชาชนหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกในประเด็นที่ตนสนใจ ซึ่งไม่ใช่การต่อต้านคสช. อย่างเช่น การรวมตัวของกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน หรือการรณรงค์ยุติความรุนแรงอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นนัล ประเทศไทย แต่กลุ่มคนเหล่านั้นก็ยังถูกจับกุมและถูกสั่งห้ามเคลื่อนไหวบนท้องถนน โดยทหารระบุว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่กลุ่มอื่นๆ

ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 31 สิงหาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 25 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีความเกี่ยวของกับพรรคเพื่อไทย หรือ นปช. 3 คน / กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักเขียน ดีเจ นักกิจกรรม 2 คน / กลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 19 คน / ยังไม่สามารถระบุได้ 1 คน

คสช. เรียกให้บุคคลมารายงานตัวอย่างน้อย 5 คน ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มคนเสื้อแดงที่จังหวัดเชียงใหม่ และนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในเดือนนี้ อาจกล่าวได้ว่าคณะรัฐประหารเลิกใช้วิธีการออกประกาศเรียกตัวบุคคลอย่างเปิดเผย เพื่อลดแรงเสียดทาน แต่ยังใช้วิธีการเรียกบุคคลมารายงานตัวต่อหน่วยทหารในแต่ละพื้นที่

กันยายน : นักวิชาการถูกจับ นักศึกษาถูกเรียก เพราะจัดเสวนาและติดป้ายผ้าสะพานลอย

ในเดือนนี้กิจกรรมการต่อต้านรัฐประหารเบาบางลงมาก เท่าที่มีรายงานการจับกุมมีเพียงกรณีกลุ่ม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ที่เดินเท้าประท้วง ที่เหลือเป็นควบคุมตัวนักวิชาการและนักศึกษาผู้จัดงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 กันยายน มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 22 คน เป็น กลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ อย่างน้อย 11 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 3 คน คือ นิสิตนักศึกษาที่ไปแขวนป้ายผ้าในวันที่ 19 กันยายน ตำรวจจึงเชิญมาให้จ่ายค่าปรับคนละ 1,000 บาท

ตุลาคม : รวบเสื้อแดงในงานศพ เรียกตัวแกนนำแรงงานและชาวเขาเผ่ามูเซอ

เจ้าหน้าที่ทหารจับกุม หนึ่ง ที่วัดบางไผ่ หลังจากที่เข้าร่วมงานศพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เนื่องจากเป็นบุคคลที่ถูกบันทึกภาพได้ระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร  ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หนึ่งถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

เดือนนี้นับว่ามีการเรียกตัวในระดับท้องถิ่นสูงที่สุด มีการเรียกตัวกลุ่มเพื่อนคนงานย่านรังสิตและนวนคร 5 คน ไปชี้แจงต่อทหารกรณีที่ทางกลุ่มฯ วางแผนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาคนงานที่กระทรวงแรงงาน

มีการเชิญ สุกิจ พูนศรีเกษม พร้อมแกนนำชาวเขาเผ่ามูเซอกว่า 30 คน ไปปรับความเข้าใจ หลังพยายามเดินทางเพื่อเข้าร้องเรียนต่อ คสช. ที่กรุงเทพฯ กรณีถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าตรวจยึดอาคารและสิ่งปลูกสร้างในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ตุลาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 5 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีความเกี่ยวของกับพรรคเพื่อไทย หรือ นปช. 2 คน / ยังไม่สามารถระบุได้ 3 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 39 คน

พฤศจิกายน : กระแสต้านรัฐประหารกลับมาอีกครั้ง นำโดยนักศึกษา

ในเดือนนี้การชุมนุมแสดงออกต่อต้านการรัฐประหารกลับมา และตัวเลขผู้ที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบก็เพิ่มสูงขึ้นเท่ากับช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ โดยเริ่มจากกรณีนักศึกษา “กลุ่มดาวดิน” ที่ชูสามนิ้วต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จังหวัดขอนแก่น ตามมาด้วยกิจกรรมของนักศึกษาที่อื่นๆ เช่น กลุ่ม ศนปท. กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ทหารยังเข้าจับกุม ผู้จัดงาน “เดิน ก้าว แลก” ปฏิรูปที่ดิน และกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เดินขบวนคัดค้านการทำ EHIA เขื่อนแม่วงก์ด้วย ผู้ถูกควบคุมตัวจากกรณีที่กล่าวมาได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันกับที่จับกุม

นอกจากข่าวการจับกุมนักกิจกรรมเดือนนี้ก็มีความเคลื่อนไหวอื่นๆอีกมาก ได้แก่การจับกุม พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ และเครือข่าย ที่ถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันฯ

ขณะเดียวกัน การเรียกบุคคลรายงานตัวก็ยังคงดำเนินต่อไป มีการเรียกบุคคลที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอีสาน “ไม่ปฏิรูปใต้ท็อปบูท คสช.” นอกจากนี้ก็มีการเชิญตัวกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนปากมูลไปพูดคุยให้เลิกเคลื่อนไหว รวมทั้งยังมีจดหมายเชิญอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เป็นนักกิจกรรมไปพบด้วย

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 30 พฤศจิกายน มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 47 คน เป็นกลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 34 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 25 คน

ธันวาคม : จับกุมพร้อมตั้งข้อหาใหม่ และเรียกตัวปรามการเคลื่อนไหว

ในเดือนนี้มีการจับกุม ผู้แสดงความเห็นทางเมือง โดยการโพสต์เนื้อหาบนโลกออนไลน์ เช่น กรณีธนพร ถูกจับเพราะแสดงความเห็นเกี่ยวกับนายทหารที่เสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก เขาถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน และถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทคนตาย อีกกรณีหนึ่งเป็นคู่สามีภรรยาถูกจับพร้อมกัน โดยสามีถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันฯ และต้องขึ้นศาลทหาร แต่ภรรยาได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง ในภาพรวม การจับกุมบุคคลในเดือนนี้ถือว่าลดลงหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อน

สำหรับการเรียกบุคคลรายงานตัว ผู้ถูกเรียกรายงานตัวในเดือนนี้ส่วนใหญ่เป็นนิสิต นักศึกษา นักวิชาการและนักเคลื่อนไหว เช่น อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 4 คน อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 6 คน นักศึกษาที่โปรยใบปลิวที่มหาวิทยาลัยบูรพา 5 คน คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่ใส่เสื้อดําในเดือนธันวาคมและโพสต์รูปลงเฟซบุ๊ค รวมทั้งมีการเรียกตัวแกนนําแนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้องและพันธมิตรจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีก 5 คน

ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม – 30 ธันวาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 5 คน

คสช. มีคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว อย่างน้อย 23 คน

ประชาชน (ผู้ต่อต้าน) เจออะไรบ้าง?

การประกาศเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัว

นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม จนถึงต้นเดือนมิถุนายน คสช. ออกประกาศคำสั่งเรื่องให้บุคคลมารายงานตัว
ผ่านทางโทรทัศน์ ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น 34 ฉบับ เรียกให้บุคคลไปรายงานตัว 476 คน โดยให้ไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบกเทเวศน์ บุคคลที่ถูกเรียกเข้ารายงานตัวไม่มีโอกาสทราบเหตุในการเรียก ไม่ได้รับสิทธิติดต่อญาติ หรือทนายความ คนส่วนใหญ่ถูกริบเครื่องมือสื่อสาร หลังจากเข้ารายงานตัว บุคคลที่ถูกควบคุมตัวต่อจะถูกนำตัวขึ้นรถตู้ที่ปิดทึบไปยังสถานที่ควบคุมตัวต่างๆ กัน เช่น ค่ายทหารในจังหวัดราชบุรีหรืออยุธยา เป็นต้น

หลังการยึดอำนาจได้หนึ่งเดือน คสช. เลิกใช้วิธีการออกประกาศเรียกตัวบุคคลทางโทรทัศน์ แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นการให้หน่วยทหารในระดับพื้นที่เรียกตัวบุคคลในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบไปรายงานตัว ซึ่งมีอย่างน้อย 163 คน วิธีการเรียกตัวมีทั้งการส่งจดหมายเชิญ การโทรศัพท์เรียก หรือการไปตามหาตัวยังที่พักอาศัย บางกรณีคนที่ไปรายงานตัวถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 7 วันตามกฎอัยการศึก หรือบางกรณีหลังพูดคุยแล้วก็ปล่อยตัวกลับ

จากการเรียกบุคคลไปรายงานตัวอย่างน้อย 666 คน มี อย่างน้อย 142 คน ที่ยังไม่มีข้อมูลว่าได้เข้ารายงานตัวตามที่ถูกเรียกหรือถูกจับกุมแล้วหรือไม่ และมีอย่างน้อย 50 คน ที่มีรายงานว่าตัดสินใจไม่เข้ารายงานตัวและยังอยู่ระหว่างการหลบหนี

การสอบสวน การปรับทัศนคติ การบังคับให้เซ็นเอกสาร

ระหว่างถูกควบคุมตัว บางกรณีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงจะมาพูดคุยเพื่อ “ปรับทัศนคติ” บางกรณีจะถูกคณะกรรมการจำนวน 5-9 คน สอบสวนเพื่อตั้งข้อหาดำเนินคดี บางกรณีจะถูกสอบถามข้อมูลให้ซัดทอดถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในขบวนการเคลื่อนไหว บางกรณีถูกกักตัวไว้โดยไม่มีการสอบสวนหรือพูดคุย ระหว่างการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่จะยึดอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ เพื่อนำไปตรวจสอบว่ามีการกระทำที่อาจผิดกฎหมายหรือไม่ เช่น การหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หรือตรวจสอบเพื่อหาข้อมูลเชื่อมโยงไปยังบุคคลอื่น

ผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวจะถูกซักถามทัศนคติทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ทหารจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้เข้าใจเหตุผลของการทำรัฐประหาร ผู้ถูกควบคุมตัวรายหนึ่งเล่าว่า ขณะควบคุมตัวถูกถามว่า “คิดว่าการปฏิวัติครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่” โดยมีคำตอบให้เลือกสามข้อ ระหว่าง ก.ไม่กระทบ ข.กระทบ และ ค.เฉยๆ พอเงยหน้าขึ้นมา ก็มีทหารสองนายพร้อมอาวุธยืนถือปืนขนาบอยู่ ทั้งซ้ายและขวา ทำให้ต้องตัดสินใจเลือก กากบาทที่ข้อ ก.ไก่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ระยะเวลาในการควบคุมตัวของแต่ละคนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือ ความจำเป็นในการสอบสวน และดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

ภายหลังจากการพูดคุยหรือครบกำหนดเวลาที่จะควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ผู้ที่จะถูกปล่อยตัวต้องเซ็นชื่อกับเอกสารการปล่อยตัว โดยมีเงื่อนไขด้วยว่า จะละเว้นการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต และหากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวยินยอมที่จะถูกดำเนินคดีทันทีและยินยอมถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งเซ็นชื่อยอมรับด้วยว่าระหว่างถูกกักตัวนั้น “ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มิได้ถูกทำร้ายหรือมิได้ถูกใช้กำลังบังคับ
ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ให้คำสัญญาหรือกระทำโดยมิชอบประการใดๆ”

พฤติกรรมการจับกุมตัวบุคคลตามกฎอัยการศึก

มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจพอจะแบ่งได้ ดังนี้

การจับจากการเข้าร่วมชุมนุมหรือแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง

ภิญโญภาพ เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณหน้าเเมคโดนัลด์ราชประสงค์ โดยภิญโญภาพตะโกนว่า อับอายต่อการทำรัฐประหาร จึงถูกเจ้าหน้าที่ทหารฝ่าฝูงชนเเละอุ้มตัวไปท่ามกลางกลุ่มประชาชน จากนั้นจึงจับตัวขึ้นรถพยาบาลกลางแยกราชประสงค์ โดยขณะจับกุมทหารกดหัวเขาลงเพื่อจะให้เขาหยุดตะโกนและลากตัวไปกับพื้น จนทำให้เขาได้รับบาดเจ็บ

วรภพ เข้าร่วมชุมนุมต้านรัฐประหารที่เเมคโดนัลด์ หรือที่เรียกว่ากิจกรรม "กินเเมคต้านรัฐประหาร"หลังจากกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 5 วัน ขณะที่เขากำลังเดินซื้อของที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องเเบบจับกุมเเล้วนำตัวเขาไปส่งตัวให้ทหารบริเวณหลังห้าง สุดท้ายเขาถูกพาตัวไปสอบสวนที่สโมสรทหารบก

สุนันทา หลังเข้าร่วม “ชูสามนิ้ว” ต่อต้านการรัฐประหารที่ห้างเทอร์มินัล 21 เสร็จเรียบร้อยและกำลังจะเดินทางกลับ มีกลุ่มชายฉกรรจ์ เเต่งกายด้วยชุดธรรมดามาพูดคุยและบอกให้ขึ้นรถแท็กซี่สีชมพูทะเบียน 422 กทม. แต่เธอไม่ยอม จึงมีการใช้กำลังฉุดกระชากตัวเธอขึ้นรถ โดยมีคนเห็นเหตุการณ์พยายามเข้าช่วยเหลือจำนวนมาก ภายหลังมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอเหตุการณ์ดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นกรณีคู่สามีภรรยาทะเลาะกัน เเต่ต่อมาไม่นานก็ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการจับกุมตัวบุคคลโดยเจ้าหน้าที่

การบุกจับตัวในสถานที่อยู่อาศัย

ณัฐ ถูกประกาศเรียกให้ไปรายงานตัวแต่ไม่ได้ไปตามกำหนด เวลาประมาณ 1.30 น. ของช่วงที่มีการประกาศเคอร์ฟิว เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 10 นาย ไปเคาะประตูห้องคอนโดมิเนียมของณัฐ เมื่อณัฐเปิดประตูก็มีไม้สอดเข้ามาทางประตู เจ้าหน้าที่ใช้กำลังผลักประตูเข้ามาและกดตัวณัฐลงกับพื้นพร้อมใช้สายยางรัดข้อมือไว้ด้านหลัง ก่อนจะพาตัวไปยังค่ายทหาร

ครอบครัวของสิรภพ สิรภพเป็นนักเคลื่อนไหวผ่านอินเทอร์เน็ต สิรภพถูกเรียกให้ไปรายงานตัวแต่ไม่ได้ไปตามกำหนด เจ้าหน้าที่จึงเดินทางไปที่บ้านของสิรภพ ซึ่งมีเพียงลูกสาวเเละหลานที่เป็นทารกอาศัยอยู่เท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่มีอาวุธครบมือ เเต่งกายด้วยเครื่องเเบบทหาร เเละนำรถมาปิดล้อมบริเวณหน้าบ้าน เมื่อทหารเข้าในบ้านก็พยายามข่มขู่ให้ลูกสาวของสิรภพบอกว่าบิดาของตนพักอาศัยอยู่ที่ใด เเต่เนื่องจากลูกสาวไม่รู้ข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่จึงนำตัวทุกคนไปที่ค่ายทหาร ซึ่งรวมถึงทารกน้อยด้วย

การจับกุมขณะเดินทาง

ธานัท (ทอม ดันดี) ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวแต่ไม่ได้ไปตามกำหนดเนื่องจากติดธุระ จึงประสานงานกับเจ้าหน้าที่ทหารว่าจะเข้าไปรายงานตัวในช่วงเย็นของวันดังกล่าว ขณะที่กำลังเดินทางออกจากไร่เพื่อไปส่งหน่อไม้ขาย เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจก็เข้าจับกุมขณะที่เขากำลังขับรถอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ขับรถไล่หลัง เเละเมื่อเลี้ยวรถเจ้าหน้าที่ก็ขับรถเข้าประชิดทันที โดยอ้างว่าเขากำลังหลบหนี

ศิริพร เจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ถ่ายรูปพร้อมกระดาษเขียนว่า “ไม่เอา คสช.” ขณะไปเที่ยวดอยหลวงเชียงดาวกับเพื่อนและโพสต์ขึ้นบนเฟซบุ๊ก ขณะเดินทางกลับถูกทหารและตำรวจตั้งด่านตรวจค้นรถ หาเสื้อผ้าชุดที่ใส่ขณะถ่ายรูปและขอดูบัตรประชาชน เมื่อทราบว่าเป็นคนที่กำลังตามหาจึงควบคุมตัวไปที่ สน.เชียงดาว

สามีภรรยาคู่หนึ่ง ขณะที่รถติดสัญญาณไฟจราจรอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการแห่งหนึ่ง มีทหารราว 50 คนพร้อมอาวุธครบมือ ขับรถปิคอัพ รถตู้ และรถเก๋งอีก 2 คัน เข้าปิดแยกและเข้าจับกุมตัวเธอและสามี โดยลากสามีลงจากรถมานอนกับพื้นและมัดมือไขว้หลัง เอาผ้าปิดตาแล้วนำขึ้นรถตู้ของทหาร ส่วนภรรยายังนั่งอยู่ในรถไม่ยอมลงมาพร้อมทั้งเกาะประตูรถไว้แน่นและตะโกนต่อว่าทหาร นอกจากนั้นยังขอความช่วยเหลือจากประชาชนที่มองดูอยู่ ทำให้ทหารที่ถือปืนยาวสองนาย ขึ้นรถของเธอแล้วจึงพาเธอไปสถานที่ควบคุมตัว

การเชิญไปพูดคุยแล้วค่อยจับ

ธนาพล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน หลังจากแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านทางเฟซบุ๊ก ก็มีนายทหารโทรมาชวนเขาไปพูดคุยที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะปรับความเข้าใจเท่านั้น เเละยืนยันว่าไม่ได้จะจับกุม เมื่อไปถึงร้านกาเเฟตามนัด ทหารก็ชี้เเจงว่าการโพสต์ในลักษณะดังกล่าวของเขาเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขตามที่ทหารตั้งไว้ เพราะเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น กลัวจะทำให้คนมาต้านคณะรัฐประหาร จึงต้องปรามด้วยการนำไปคุมขังอีกครั้งหนึ่ง เเละพาตัวเขาออกไปจากร้านกาเเฟทันที

การควบคุมตัวเกิน 7 วัน เกินอำนาจตามกฎอัยการศึก

กริชสุดา ถูกตำรวจจับกุมที่จังหวัดชลบุรีตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน รวมเวลาที่ถูกควบคุมตัว 28 วัน กริชสุดาให้สัมภาษณ์ว่า เธอถูกปิดตาและมัดมือเป็นเวลา 7 วัน ถูกทำร้ายร่างกายโดยโดนตบหน้า ชกที่ใบหน้าและลำตัว ตลอดจนใช้ถุงคลุมหัวทำให้ขาดอากาศหายใจ ทหารต้องการข้อมูลจากเธอว่า ใครเป็นผู้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ต้องโทษในเรือนจำและสนับสนุนอาวุธสงคราม ซึ่งกริชสุดาระบุว่า ผู้สอบสวนต้องการให้เธอยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนดูแลนักโทษและผู้ยุยงส่งเสริมในกระทำผิด

ยงยุทธ ถูกตำรวจและทหารประมาณ 40 – 50 นาย จับกุมที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ตำรวจภูธรภาค 1 แถลงข่าวการจับกุมยงยุทธ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 แต่ต่อมาไม่มีข้อมูลว่า ระหว่างวันที่ 2 - 8 สิงหาคม เขาถูกควบคุมตัวที่ใด ในวันที่ 8 สิงหาคม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสอบถามไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ, เรือนจำจังหวัดนนทบุรี, ตำรวจภูธรภาค 1 และกองปราบปราม แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่ายงยุทธถูกควบคุมตัวอยู่สถานที่ใด จึงมีการออกแถลงการณ์ในกรณีนี้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2557 ในวันที่ 10 สิงหาคม ยงยุทธถูกควบคุมตัวมาที่กองปราบฯ พร้อมตั้งข้อกล่าวหาพกพาอาวุธและวัตถุระเบิด 

เจริญ ถูกควบคุมตัวไปตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2557 หลังครบ 7 วัน ทหารนำตัวเจริญ ไปแจ้งความในข้อหา ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองที่ สน.มักกะสัน และในวันเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาประกันตัวและพาตัวออกไป ไม่ปรากฏข้อมูลว่าควบคุมตัวไว้ ณ ที่ใด แต่ทางญาติก็ยังสามารถติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์ได้ จนเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม เจริญถูกนำตัวไปขังที่กองปราบปราม และถูกตั้งข้อหาวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง

กรณีถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัว

ชัชวาล ถูกจับกุมพร้อมภรรยากลางสี่แยกในจังหวัดเชียงใหม่โดยเจ้าหน้าที่ทหารราว 50 คน พร้อมอาวุธครบมือ ระหว่างควบคุมตัวเขาถูกมัดมือไขว้หลังและถูกทำร้ายร่างกายโดยชายที่สวมหน้ากากรูปสัตว์ 2 คน จากนั้นถูกนำตัวไปบนรถตู้และถูกทำร้ายร่างกายอยู่ตลอดการเดินทาง นอกจากนี้ระหว่างการควบคุมตัว เขาถูกนำสายไฟพันสำลียัดเข้าไปในช่องทวารหนัก และอีกส่วนหนึ่งนำมามัดที่อวัยวะเพศ เอาน้ำราดแล้วปล่อยกระแสไฟช็อต เมื่อร้องก็ถูกถุงพลาสติกดำคลุมศีรษะทำให้ร้องไม่ได้และหายใจติดขัด นอกจากนี้ยังมีการนำปืนพกสั้นยัดใส่ปากพร้อมบังคับให้สารภาพว่านำอาวุธไปซ่อนไว้ที่ใด เขาถูกควบคุมตัวนานหลายวันก่อนที่จะถูกนำตัวมาแถลงข่าวและแจ้งข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุยิงระเบิด M79 หลายเหตุการณ์

กิตติศักดิ์ ผู้ต้องหาคดีชายชุดดำ ถูกชาย 3 คนบุกจับกุมยังที่ทำงานโดยไม่มีหมายจับ ระหว่างการควบคุมตัว ถูกสอบสวนโดยใช้ถุงคลุมศีรษะเพื่อไม่ให้เห็นหน้าผู้สอบสวน ถูกตบหัวและตบปาก ถูกจับนอนเหยียดตัวและมีคนนั่งทับเท้าทั้งสองข้างและนั่งทับบนตัวทำให้หายใจไม่ออก เพื่อให้รับสารภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 2553 พร้อมทั้งให้ขยายผลไปถึงคนอื่น โดยเขาจะได้รับการเปิดตาในเวลานอนเท่านั้น แต่ก็ยังถูกใส่กุญแจมือตลอดเวลา

บัญชา ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจในเครื่องแบบบุกเข้าจับกุมกลางดึกขณะเสพกัญชาอยู่กับเพื่อนในที่พักระหว่างเดินทางถูกปิดตาและไม่รู้จุดหมายปลายทางว่าไปที่ใด เมื่อถึงที่หมายเขาถูกเตะ ตบ และถูกข่มขู่เพื่อเอาข้อมูลว่าใครอยู่ในขบวนการค้ายาบ้าง และเมื่อบอกว่าไม่รู้ก็จะถูกรุมเตะ หลังจากโดนทำร้ายอยู่ราว 1 ชั่วโมง จากนั้นเขาถูกถีบลงหลุมและถูกเทดินถมจนเหลือแค่ศีรษะราวครึ่งชั่วโมงจึงถูกนำตัวขึ้นมา เขาถูกทำร้ายตั้งแต่ประมาณเที่ยงคืนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น จากนั้นถูกนำตัวไปส่งยังสถานีตำรวจเพื่อเสียค่าปรับ ของกลางที่พบในบ้านคือ กัญชา 2 ห่อ และใบกระท่อมอีก 100 กว่าใบ

มีรายงานกรณีการซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 28 กรณี ส่วนใหญ่ผู้ถูกซ้อมทรมานถูกสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงทางการเมือง กรณีส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวเกิน 7 วัน ขณะถูกจับไม่ทราบข้อกล่าวหา ไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัว ไม่สามารถติดต่อคนภายนอกได้ หลายคนยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหาเพราะไม่สามารถทนสภาวะที่เผชิญอยู่ได้ และปัจจุบันยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"รัฐสร้างผี" : ว่าด้วยการจัดการความสัมพันธ์ภายในสังคมของรัฐและชุมชน

$
0
0


        

         

การปรากฏตัวขึ้นของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ออกมาให้ข่าวว่า "...เป็นห่วงเศรษฐกิจประเทศไทยกำลังแย่ เห็นใจผู้มีรายได้น้อย เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน คนหาเช้ากินค่ำจะลำบากมาก อีกทั้งยังมีแรงกดดันจากต่างประเทศจะทำให้ลำบากมากขึ้น ฉะนั้นจะต้องใช้คนมีความรู้ความสามารถจริงๆแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม คงต้องเปิดโอกาสให้รัฐบาลทหารทำงานเต็มที่ คนในพรรคเพื่อไทย (พท.) คนเสื้อแดง อย่าไปขัดขวาง เพราะลำพังปัญหาในปัจจุบันก็หนักมากอยู่แล้ว หากแก้ไขไม่ได้เดี๋ยวจะถูกกล่าวโทษว่าไปสร้างปัญหา..."[1]

จากคำกล่าวนี้แน่นอนว่าทักษิณนั้นจะยิ่งกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนอีกต่อไปแล้วในกลุ่มของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย เพราะเนื่องจากไม่มีถ้าทีจะต่อต้านยังกลับไปสนับสนุนเผด็จการ แต่สำหรับฝ่ายตรงข้ามที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือผู้สนับสนุนทหารกลับมองมากไปกว่านั้น พวกเขามองทักษิณนั่นแหละที่เป็นตัวการของปัญหาความวุ่นวายทั้งหมดของบ้านเมือง ซึ่งถึงแม้ทักษิณจะพูดอย่างไรพวกเขาก็คิดว่าคงไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมาได้ ซ้ำร้ายอาจจะมีนัยยะทางการเมืองซ่อนอยู่ด้วยก็เป็นได้ เป็นความหวาดกลัว ระแวง และเกลียดชัง ที่แฝงอยู่ในความคิดของคนกลุ่มดังกล่าวนี้[2]

หากย้อนกลับไปในช่วงปลายปีที่แล้วก็ได้มีข่าวที่ถูกปล่อยออกมาสู่สังคมเกี่ยวกับต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจ โดยมีการกล่าวหาว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวิกฤติเศรษฐกิจ โดยไปปั่นหุ้นให้หุ้นตกอย่างรุนแรงและต่อเนื่องหลายวัน จนไปสร้างความไม่มั่นใจต่อนักลงทุน ด้วยการกล่าวหานี้ได้ทำให้รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทยต้องออกมาชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง[3]ทำให้ชวนสังเกตว่าข่าวลือดังกล่าวนี้มีความสำคัญและแรงสะท้อนขนาดที่รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทยต้องออกมาชี้แจงเลยหรือ

ด้วยเหตุนี้เองชวนให้เห็นได้ว่าผู้คนในสังคมไทยและกลุ่มการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้มองทักษิณเป็นนักการเมืองที่ฉ้อฉลหรือเป็นบุคคลที่ทุจริตคอรัปชั่นแต่เพียงเท่านั้น แต่กลุ่มคนเหล่านี้เลือกที่จะมองทักษิณ เป็นเสมือน"ผี"ที่คอยดลบันดาลให้สังคมไทยประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ตลอดมา

จากที่ได้กล่าวมานี้ได้ทำให้นึกถึงงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง"การเมืองเรื่องผีทักษิณ"[4]งานชิ้นดังกล่าวได้อธิบายถึงสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงปี พ.ศ. 2550-2551 ซึ่งนิธิได้กล่าวเอาไว้ว่าในทางการเมืองนั้น ทักษิณ ชินวัตร ตายไปแล้ว ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ก็คือ คนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่กลุ่มกระฎุมพีหรือชนชั้นนำกลุ่มต่าง ๆ ไว้วางใจว่าจะรักษาสมดุลแห่งผลประโยชน์ให้ลงตัว ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ต้องโดนทำให้ออกจากตำแหน่ง ดังนั้นนายกฯที่ถูกรัฐประหารไปแล้ว ไม่อาจที่จะรับความไว้วางใจนั้นได้อีก[5]ดังนั้นทักษิณจึงเป็นเพียงแค่ผีสำหรับแวดวงการเมืองไทย นิธิ ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่าถึงแม้ทักษิณจะตายไปแล้วในทางการเมืองและหมดประโยชน์ทางการเมืองกลับกลุ่มชนชั้นนำ แต่ผีทักษิณยังคงอยู่ และสามารถใช้ได้ ก็ถูกปลุกขึ้นมาให้สร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจในกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี[6]

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าผีทักษิณถูกปลุกครั้งแล้วครั้งเล่าจากกลุ่มกระฎุมพีหรือชนชั้นนำที่เสียผลประโยชน์จากนโยบายของทักษิณ และด้วยความต้องการที่จะสยบและควบคุมมวลชนที่กำลังตื่นตัวขึ้นอยู่ตลอดเวลาของรัฐ การสร้างผีทักษิณจึงเป็นกระบวนการของการจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐใหม่ เป็นการโน้มน้าว(บังคับ)ให้กลุ่มมวลชนที่นิยมในตัวของทักษิณหมดความศรัทธาในตัวเขา และเมื่อมีผี ก็จำเป็นที่จะต้องมีเทวดา(ซึ่งก็คือผี)เพื่อปราบผี ทางภาครัฐและกลุ่มกระฎุมพีจึงต้องยกเอาอุดมการณ์กษัตริย์นิยมขึ้นเป็นเทวดาเข้ามาควบคุมมวลชนไปพร้อม ๆ กับการใช้ผีทักษิณ เพื่อโน้มน้าวให้มวลชนหวาดกลัวทักษิณและเดินเข้าหาอุดมการณ์กษัตริย์นิยม

อย่างไรก็ตามกลุ่มกระฎุมพีหรือชนชั้นนำก็ต้องประสบกับปัญหาในการใช้ผีทักษิณ เพราะเนื่องจากมวลชนที่เคยได้รับผลประโยชน์จากนโยบายของทักษิณได้ตื่นขึ้นมาหลังการรัฐประหาร 2549 และกลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่ใช่กลุ่มคนที่โง่ จน เจ็บอย่างที่กลุ่มชนชั้นนำหรือคนชั้นกลางเข้าใจกัน พวกเขารู้ว่าอะไรเป็นอะไรและมีการเปิดกว้างมากกว่ากลุ่มคนชั้นกลางเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นผีทักษิณจึงไม่สามารถที่จะไปสร้างความหวาดกลัวให้กับกลุ่มมวลชนได้ แต่ขณะเดียวกันผีทักษิณได้ย้อนกลับไปสร้างความหวาดกลัวให้กับคนชั้นกลางแทน จนทำให้พวกเขานั้นหลงคิดไปว่าปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นเป็นเพราะผีทักษิณดลบันดาลให้เกิด เป็นการหวาดกลัวที่ออกจะเกินความเป็นจริงแต่ก็เป็นผลมาจากการที่ชนชั้นนำต้องการจัดการความสัมพันธ์ภายในเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน

การปลุกผีทักษิณนั้นก็ไม่ได้มีแค่เพียงแต่ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายทักษิณแต่เพียงเท่านั้น แต่ภายในขบวนการคนเสื้อแดงเองก็ยังคงปลุกผีทักษิณให้กลายเป็นเทวดาพิทักษ์คนจน เพื่อจัดการกับความสัมพันธ์ภายในขบวนการให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อใช้ต่อรองกับอำนาจของฝ่ายชนชั้นนำ ถึงแม้ว่าภายหลังกลุ่มคนเสื้อแดงเองจะปรับเปลี่ยนการต่อสู้ของตนให้มีความหมายที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าประชาธิปไตยดังกล่าวนี้มีทักษิณ ชินวัตรรวมอยู่ในนั้นด้วย

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าการ"สร้างผี"เป็นการสร้างการจัดการความสัมพันธ์ภายใน เพื่อที่จะใช้จัดความสัมพันธ์ในสังคมว่าควรจะเป็นอย่างไร สัมพันธ์กันแบบไหน สิ่งไหนควรและไม่ควรกระทำ หรือเป็นส่วนหนึ่งของ "การสร้างอัตลักษณ์"เพื่อใช้จัดการต่อรองหรือรักษาผลประโยชน์ร่วมของกลุ่มการเมือง ซึ่งการสร้างผีดังกล่าวนี้ไม่ใช่ผีทักษิณจะเป็นผีรายแรกของรัฐ แต่หากมองย้อนกลับไปเราก็จะพบว่าในช่วงหนึ่งรัฐบาลของไทยก็ได้สร้างผีต่าง ๆ ขึ้นมามากมายเพื่อจัดการความสัมพันธ์ภายในประเทศและเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มรัฐบาลในขณะนั้น

แต่อย่างไรก็ตามหากจะบอกว่าการสร้างผีเป็นการจัดความสัมพันธ์ภายในของรัฐสมัยใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คงจะไม่ถูก เพราะการสร้างผีเพื่อการจัดการความสัมพันธ์ภายในนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่การอยู่รวมกันเป็นชุมชนเกษตรกรรมซึ่งเป็นชุมชนการผลิตแบบยังชีพ หรือก่อนที่รัฐหรือเศรษฐกิจแบบเงินตราจะเข้ามาแทรกแซงเสียด้วยซ้ำ

บทความชิ้นนี้ต้องการที่จะกล่าวถึงกระบวนการจัดการความสัมพันธ์ภายในของชุมชนด้วยการใช้ผี เพื่อที่จะเข้าไปจัดการความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของชุมชนจนมาถึงช่วงที่รัฐได้เข้ามาแทรกแซง รัฐก็ได้สร้างกระบวนการจัดการความสัมพันธ์ดังกล่าวใหม่เพื่อให้ชุมชนนั้นขึ้นตรงต่อรัฐ การสร้างผีก็ยังคงถูกใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง กินเวลามาจนถึงปัจจุบันการสร้างผีก็ยังคงเป็นอีกกลไกในการจัดการความสัมพันธ์ภายในได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งในสังคมไทยนั้นได้เกิดผีขึ้นอย่างมากมาย เราจะเห็นได้ว่าตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่การศึกษา สื่อ องค์กรรัฐและเอกชน เป็นต้น ก็จะมีผีของตนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดการและกำกับความสัมพันธ์ภายในพื้นที่ของตน ดังนั้นการสร้างผีจึงเป็นกลไกที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งทางสังคมที่เราไม่ควรจะมองข้าม ดังคำกล่าวของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ว่า เพราะความน่ากลัวของผีนั้นจะมีอยู่ได้ ก็ตรงที่ไม่รู้อันตรายของมันที่แน่ชัด[7]ดังนั้นผีมันจึงสามารถที่จะพาสังคมไปสู่ความสงบสุขได้มากพอ ๆ กับความวุ่นวาย ตามแต่ใจปรารถนาของผู้ที่สามารถจะก้าวขึ้นมาใช้มันเพื่อผลประโยชน์ของตน


ชุมชนกับการสร้างผี

การอยู่รวมกันของชุมชนเกษตรกรรมในระบบการผลิตเพื่อยังชีพก่อนที่ทุนนิยมจะเข้ามาหรือเกิดการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สิ่งที่สำคัญในการดำรงชีพของชุมชนนั้นเงินตราหาใช่สิ่งสำคัญแต่ทีเดียว ความสำคัญของชุมชนในระบบการผลิตเพื่อยังชีพนั่นก็คือป่าไม้ ที่ดิน และแหล่งน้ำ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต ดังนั้นหากขาดปัจจัยดังกล่าวก็เท่ากับขาดความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการย้ายถิ่นฐานเพื่อไปหาที่ทำกินซึ่งมักจะปรากฏอยู่ในบันทึกเรื่องราวของการกำเนิดชุมชนต่าง ๆ ในปัจจุบันที่บรรพบุรุษของชุมชนมักจะอพยพโยกย้ายถิ่นฐานอันเนื่องมากจากความแห้งแล้งกันดาร

ดังนั้นการมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของชุมชนในระบบการผลิตแบบยังชีพ ทรัพยากรดังกล่าวจึงเป็นเสมือน "ทุน"ที่คนในชุมชนสามารถเข้าถึงได้เท่า ๆ กันเพื่อการดำรงชีพ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบในการใช้ทรัพยากร จำเป็นที่จะต้องมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเกิดการสร้าง "ผี"ขึ้นเพื่อใช้จัดการความสัมพันธ์ภายในของชุมชนในระบบการผลิตแบบยังชีพ โดยการสร้าง "ผี"นี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่าเป็นการกำหนดให้มนุษย์ตักตวงถือประโยชน์จากธรรมชาติในขอบเขตที่จำกัด(บนความพอดี)[8]     

การสร้างผีนั้นไม่อาจที่จะกระทำขึ้นหรือกล่าวขึ้นลอย ๆ ได้ จำเป็นที่จะต้องมีการประดิษฐ์พิธีกรรมมาเป็นส่วนประกอบเพื่อให้คนในชุมชนนั้นรู้สึกว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และความน่ากลัว จึงนำไปสู่ประเพณีการไหว้ผีต่าง ๆ เมื่อเวลาจะทำการสิ่งใดเช่นตัดไม้ ทำนา เกี่ยวข้าว ล่าสัตว์ เป็นต้น หนึ่งเหตุผลในนั้นก็คือเป็นการบอกชุมชนว่าตนนั้นกำลังจะทำอะไร โดยผ่านพิธีกรรมเพื่อให้การกระทำของตนนั้นได้มีความเห็นชอบจากชุมชน ทำให้บุคคลไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ตามอำเภอใจในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติได้เพราะมีผีคอยควบคุมอยู่ ซึ่งพิธีกรรมที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นเสมือนการผลิตซ้ำเพื่อส่งต่อให้พิธีกรรมดังกล่าวได้คงอยู่และให้ผีได้คอยควบคุมการใช้ทรัพยากรในชุมชนต่อไป

อีกทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ก็ได้มีการใช้ผีในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการใช้ผีมาเป็นตัวกำหนดกรอบความสัมพันธ์ของผู้ชายและผู้หญิง ให้อยู่ในกรอบที่ไม่สะเทือนต่อระบบของชุมชนจนเกินไป[9]ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวหาในเรื่องของการผิดผี เป็นต้น หรืออย่างเช่นความเชื่อในเรื่องของผีกะซึ่งเป็นความเชื่อทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีกะในชุมชนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีที่ดิน จึงถูกกล่าวหาว่าเป็นผีกะจากคนในชุมชน เพราะเนื่องจากต้องการกีดกันไม่ให้ลูกหลานในตระกูลของผู้กล่าวหาไปแต่งงานกับพวกผีกะ เพราะเกรงว่าจะเสียที่ดิน[10]ทำให้เห็นได้ว่าที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตนั้นมีความสำคัญมากในระบบการผลิตเพื่อยังชีพ

หรือในกรณีของผีปู่แสะย่าแสะซึ่งเป็นความเชื่อของทางภาคเหนืออีกเช่นกัน ซึ่งความเชื่อในเรื่องของผีปู่แสะย่าแสะนี้จัดได้ว่าสะท้อนการอยู่ร่วมกันในชุมชนเกษตรกรรมอย่างเห็นได้ชัด โดยอานันท์ กาญจนพันธุ์ ได้อธิบายถึงองค์ประกอบของพิธีการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ว่าก็คือการฆ่าควายเพื่อเซ่นสังเวยผี อีกทั้งยังมีการเข้าทรงผีปู่แสะย่าแสะและบริวาร เพื่อทำนายเกี่ยวกับสภาวะทางธรรมชาติ โดยเฉพาะฝนที่มีความสำคัญมากทางการเกษตร[11]

พิธีกรรมเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะนี้ก็คือการจัดการความสัมพันธ์ภายในของชุมชน โดยจะเห็นได้จากการฆ่าควาย มีเรื่องเล่าว่าปู่แสะย่าแสะนั้นแต่เดิมจะกินมนุษย์ แต่เมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้าหลังจากนั้นปู่แสะย่าแสะก็เปลี่ยนมากินควายแทนคน โดยจะมีคนไปถวายให้ทุกปี หากปีไหนปู่แสะย่าแสะไม่ได้กินควายก็จะมากินคนแทน[12]อานันท์ กาญจนพันธุ์ได้อธิบายตรงส่วนนี้โดยชี้ให้เห็นว่าควายนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะในสังคมเกษตรกรรมซึ่งเป็นการผลิตเพื่อยังชีพ ควายจึงมีความหมายเทียบเคียงได้กับชีวิตของคน การสังเวยควายจึงเปรียบเสมือนการเสียสละชีวิตเพื่อประโยชน์ของชุมชน[13]

อีกทั้งหลังจากพิธีเสร็จสิ้นก็จะมีการแบ่งเนื้อควาย ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของชุมชนเกษตรกรรม ดังนั้นการใช้ผีปู่แสะย่าแสะมาเป็นเครื่องมือในการจัดการความสัมพันธ์ภายในก็เพื่อที่จะให้ชุมชนนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ เหมือนเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำการเกษตรของคนในชุมชน และเป็นการรวมตัวกันของคนในชุมชนซึ่งเป็นนัยยะของการสร้างความสามัคคี เพราะการผลิตแบบยังชีพนี้ยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกัน น่าคิดว่าหากไม่มีควายให้ผีปู่แสะย่าแสะกิน ความสามัคคีก็คงเกิดได้ยาก เมื่อการพึ่งพาอาศัยกันไม่เกิดขึ้น การผลิตเพื่อยังชีพก็จะเป็นไปได้ยาก สุดท้ายคนที่จะตายก็คือคน

การนับถือผีของชุมชนค่อนข้างที่จะมีความแตกต่างจากรัฐจารีตอยู่พอสมควร เพราะเนื่องจากการนับถือผีของรัฐจารีตจะเป็นไปแบบพิธีพราหมณ์-ฮินดู ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่มีความซับซ้อนมากกว่าชุมชนเพราะเนื่องด้วยปัจจัยการผลิตที่มีการค้าขายของรัฐจารีตจึงทำให้เกิดการสะสมส่วนเกินจากการผลิต ผลประโยชน์และอำนาจจึงเป็นจุดมุ่งหมายมากกว่าการแค่มีเพียงที่ดินทำกิน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐจารีตด้วยการสร้างผีต่าง ๆ ขึ้น ดังจะเห็นได้จากพิธีถือน้ำพิพัฒสัตยาหรือโองการแช่งน้ำที่มีการใช้ผีในการเข้ามาจัดการกับผู้ไม่จงรักภักดีหรือคิดการขบถ หรือผู้ละเมิดความสัมพันธ์ภายในที่ได้ถูกวางเอาไว้ ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้

"...ผีดงผีหมื่นถ้ำ ล้ำหมื่นผา มาหนน้ำหนบก ตกนอกขอกฟ้าแมน แดนฟ้าตั้งฟ้าต่อ ล่อหลวงเต้า ทังภูติเหง้าพนัศบดี ศรีพรหมรักษ์ยักษ์กุมาร หลายบ้านหลายท่า ล้วนผีห่าผีเหว เร็วยิ่งลมบ้า หน้าเท่าแผง แรงไกยเอาขวัญ ครั้นมาถึงถับเสียงเยียชระแรงชระแรง แฝงข่าวยินเยียชระรางชระราง รางชางจุบปากเยียจะเจี้ยวจะเจี้ยว เขี้ยวสรคานอานมลิ้นเยียละลาบละลาบ ตราบมีในฟ้าในดิน บินมาเยียพะพลุ่งพะพลุ่ง จุ่งมาสูบเอา เขาผู้บ่ซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถเกียจกาย ว่ายกะทู้ฟาดฟัด คว้านแคว้นมัดศอก หอกดิ้นเด้าเท้าทก หลกเท้าให้ไปมิทันตาย หงายระงมระงม ยมพบาลลากไป ไฟนรกปลาบปลิ้นดิ้นพลาง เขาวางเหนืออพิจี ผู้บ่ดีบ่ซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถแก่เจ้า ผู้ผ่านเกล้าอยุธยา..."[14]

จากโองการแช่งน้ำดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่ารัฐจารีตได้ใช้ผีให้มาเป็นเครื่องมือผ่านโองการแช่งน้ำในการจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐจารีต เพื่อไม่ให้เกิดการขบถหรือก้าวก่ายในสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกวางเอาไว้ พร้อมกับการพรรณนาถึงความน่ากลัวต่าง ๆ จึงเป็นการแสดงภาพของผีและจุดจบของผู้ที่คิดจะท้ายอำนาจนั้นไว้อย่างชัดเจน ทำให้ผีมีความน่ากลัวในสังคมรัฐจารีต ซึ่งคล้ายกันกับชุมชน แต่อาจแตกต่างกันตรงรูปแบบการใช้และจุดประสงค์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ซึ่งต่อมาระบบทุนนิยมได้เข้ามาสู่ชุมชนและรัฐจารีต จนนำไปสู่การสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น จึงทำให้ผีที่เคยใช้เป็นตัวจัดการความสัมพันธ์ภายในของทั้งชุมชนและรัฐจารีตต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือเปลี่ยนที่รูปแบบของการใช้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมแบบใหม่ที่สืบเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจ และเพื่อให้เป็นไปต่อการรับใช้ต่ออุดมการณ์แห่งรัฐสมัยใหม่


รัฐสมัยใหม่กับการสร้างผี

ถือได้ว่าการก้าวขึ้นมาเป็นรัฐสมัยใหม่และการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น สาเหตุหลักก็คือการสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เปิดเสรีทางการค้า ส่งผลให้สภาพสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย อีกทั้งการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จำเป็นที่จะต้องสร้างสำนึกใหม่ให้กับคนในรัฐ ดังนั้นความเชื่อท้องถิ่นต่าง ๆ จึงต้องถูกลดทอนความสำคัญลงหรือไม่ก็ต้องถูกล้มเลิกลงไป อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ในช่วงเริ่มแรกของการใช้ผีในการจัดการความสัมพันธ์ภายในของรัฐสมัยใหม่นี้ จำเป็นที่จะต้องลดทอนความเชื่อในท้องถิ่นต่าง ๆ ลงไปก่อน ความเชื่อในเรื่องผีในชุมชนก็ได้ถูกลดทอนและบางส่วนก็ถูกทำลายลงด้วย ซึ่งพระไพศาล วิสาโล ได้อธิบายไว้ว่า ไสย(ผี)[15]ไม่ใช่เป็นเรื่องของการพึ่งพาอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้วน ๆ แต่ได้มีส่วนที่เป็นศีลธรรมคอยกำกับไว้ เพื่อแสวงหาความสุขแบบโลก ๆ ให้อยู่ในขอบเขต ซึ่งการมาของการรวมศูนย์อำนาจที่นำไปสู่การปฏิรูปศาสนา ทำให้การนับถือผีเป็นอันต้องถูกต่อต้านอย่างหนักตามไปด้วย อย่างเช่นกรณีของพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร และพระอาจารย์ผาง จิตตคุตโต ซึ่งได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเผาศาลปู่ตาในหมู่บ้าน[16]แสดงให้เห็นถึงการรวมศูนย์อำนาจ ที่ประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ จะต้องมีสำนึกไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการลดทอนความเชื่อของท้องถิ่นลงอยู่ตลอดนั้น รัฐส่วนกลางจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสำนึกร่วมกันในรัฐสมัยใหม่นี้ หนึ่งในกระบวนการนั้น การสร้างผี จึงได้ถูกนำมาใช้ ดังจะเห็นได้จากผีของสยามตัวแรก ๆ นั่นก็คือพระสยามเทวาธิราช ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการแสดงให้เห็นว่าแผ่นดินสยามนั้นรอดพ้นจากเงื้อมมือตะวันตกมาได้เพราะส่วนหนึ่งมีเทวดาคอยอารักษ์อยู่ การสร้างคู่ตรงข้ามที่เป็นพวกตะวันตกที่จะเข้ามาเอาดินแดน ได้ทำให้เกิดการสร้างพวกเขาขึ้น และให้เกิดสำนึกในความเป็นเรา การนับถือพระสยามเทวาธิราชเป็นการจัดการความสัมพันธ์ภายในว่าคนสยามควรจะคิดถึงบ้านเมือง ให้รู้สึกว่าตนเป็นหนึ่งในบ้านเมืองไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ซึ่งพระสยามเทวาธิราชก็ยังคงถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นการนับถือผียังคงมีอยู่แต่กลับเป็นผีในรูปแบบของรัฐส่วนกลาง ที่เข้าไปจัดการความสัมพันธ์ภายในของรัฐ ในท้องถิ่นต่าง ๆ ให้มีสำนึกร่วมกัน อย่างไรก็ตามการสร้างผีจะดูเข้มข้นมากยิ่งขึ้น หลังจากที่จะต้องเผชิญกับค่ายของอุดมการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เข้ามากระทบสู่สังคม จนทำให้รัฐบาลต้องเร่งจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าตนเองนั้นควรจะเป็นอย่างไร ทำอะไร และควรจะกลัวอะไรหรือต่อต้านอะไร การสร้างผีขึ้นมาก็ยังคงสร้างและใช้กันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


ผีแห่งชาติ

หลังจากเกิดการสร้างชาติอย่างเข้มข้นในยุคสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม พร้อมกับการเข้าร่วมในสงครามอินโดจีน มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำให้เกิดความสามัคคีกันภายในชาติ มีการสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นไทยขึ้นหลายประการ และมีการอธิบายลักษณะที่ไม่ใช่ความเป็นไทยเอาไว้ด้วย ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวและหลังจากนี้ "ผี"ที่เกิดขึ้นจะมีความหมายที่เป็นลักษณะของการ "เป็นฝ่ายตรงข้าม"กับทางรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันอย่างที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่ามีผีร้ายก็จำเป็นที่จะต้องมีเทวดา(ผี)มาปราบผี รัฐจึงเป็นตัวการในการผลิตผีทั้ง 2 ชนิดนี้ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐ อีกทั้งรูปแบบการใช้หรือการผลิตซ้ำก็จะแตกต่างไปจากเดิมด้วยการใช้สื่อจากทางภาครัฐ

ดังจะเห็นได้จากในช่วงสงครามอินโดจีนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสมัยดังกล่าวถือได้ว่าความคิดในเรื่องชาตินิยมได้แพร่หลายในสังคมไทย อะไรก็ตามที่จะไปกระทบต่อความสัมพันธ์ภายในชาติย่อมต้องถูกกำจัด ศัตรูที่เป็นภัยอยู่ภายนอกประเทศก็ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงอยู่แล้ว แต่ศัตรูภายในนั้นย่อมอันตรายมากกว่า รัฐบาลจึงใช้สื่อในการสร้างภาพของความเป็นภัยให้กับพวกที่ทรยศประเทศชาติ ดังนั้น "ผีแนวที่ 5"ในยุคสมัยดังกล่าวจึงเกิดขึ้น

แนวที่ 5 (Fifth column)เป็นคำที่ใช้เรียกไส้ศึกหรือสายลับที่ทำงานให้กับศัตรู หรือแอบแฝงเข้ามาสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เกิดผลร้ายต่อรัฐ ดังนั้นรัฐจึงได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนเพื่อให้ระมัดระวังในสิ่งดังกล่าว และหากพบเจอก็จำเป็นที่จะต้องต่อต้าน เนื่องด้วยการผ่านกระบวนการผลิตซ้ำทั้งทางวิทยุหรือป้ายประกาศที่ให้ภาพของอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากแนวที่ 5 จึงเสมือนว่ารัฐได้กลายเป็นผู้ปลุกผีแนวที่ 5 ขึ้น เพื่อให้ประชาชนนั้นต่างระมัดระวังตัวไม่ให้แพร่งพรายความลับของชาติออกไป

ดังจะเห็นจากประกาศในสมัยดังกล่าวที่มีใจความว่า "เงียบไว้ปลอดภัยดีกว่า ! ศัตรูของชาติไทยกำลังเงี่ยหูฟังอยู่ทุกแห่ง ! ..."แนวที่ 5 นี้ จึงสามารถที่จะเป็นใครก็ได้ สามารถก่อให้เกิดสถานการณ์ร้าย ๆ ภายในรัฐก็ได้ คล้ายกับผีที่ดลบันดาลให้เกิดเรื่องร้าย ๆ ได้ จึงเป็นความหวาดกลัวของสังคมที่จะพูดหรือแพร่งพรายความลับของชาติ และต้องคอยสอดส่องดูแลชุมชนหรือพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้พวกแนวที่ 5 เข้ามาสร้างสถานการณ์ได้ นับว่าความกลัวผีดังกล่าวนี้รัฐได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ในช่วงสถานการณ์ที่คับขันในเวลานั้น

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นหวาดกลัว(ผี)แนวที่ 5 มากที่สุดก็คือ"การให้ร้าย"และการให้ร้ายด้วยข้อกล่าวหาดังกล่าวที่ได้ผล ย่อมแสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวที่สมบูรณ์แบบจากทางภาครัฐและประชาชน ดังจะเห็นได้จากกรณีคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กิจบำรุง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวที่ 5 และถูกจับในปี พ.ศ.2484 จนเสียชีวิตภายในห้องขังนั้นเอง ในปี พ.ศ.2487 โดยก่อนหน้านั้นพระสังฆราชแปร์รอสได้มีจดหมายลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1984 ไปถึงหลวงอดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ เพื่อชี้แจงว่าคุณพ่อนิโคลาสไม่มีความผิด ดังมีใจความว่า

"...บาทหลวงบุญเกิดนั้นถูกขังอยู่ที่สีคิ้วเป็นเวลาหลายวัน แล้วต้องไปติดอยู่ที่คุกนครราชสีมาจนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ ได้ถูกย้ายมาที่พระนคร ถูกขังอยู่ที่สถานีตำรวจศาลาแดงขอท่านอธิบดีโปรดพิจารณาความ จะได้ทราบว่าบาทหลวงบุญเกิดไม่มีความผิด ถูกคนเกลียดมาใส่ความว่าเป็นแนวที่ 5 ที่จริงไม่เคยเป็นเลย จึงเมื่อไม่มีผิด ก็ขอให้ปล่อยตามข้อ 13 แห่ง รัฐธรรมนูญ..."[17]

เราจะเห็นได้ว่าการสร้างผีแนวที่ 5 ของรัฐดังกล่าวนี้ ได้กลายเป็นอาวุธของการทำลายศัตรูอย่างได้ผล และเมื่อรัฐมีความกระตือรือร้นที่จะตอบสนองต่อการให้ร้ายดังกล่าวนี้ด้วยการลงโทษทางกฎหมายหรือสังคมอะไรก็ตาม ย่อมหมายความว่ารัฐหรือสังคมเองก็มีความหวาดกลัวในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกันอย่างที่กล่าวไปว่าเมื่อมีผีร้าย ก็ต้องมีผีดีเพื่อทำให้สังคมที่หวาดกลัวต่อความร้ายกาจของผี(ที่รัฐสร้างขึ้น)ได้พึ่งพิง หรือเอาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต หรือปฏิบัติตนภายในรัฐ การปลุกผีบรรพบุรุษในประวัติศาสตร์ผ่านการปรุงแต่งด้วยจิตสำนึกของอุดมการณ์ชาตินิยมซึ่งล้วนเต็มไปด้วยความแยกเขาแยกเราและความเกลียดชังต่อสิ่งที่ไม่ใช่พวกเรา ที่ได้ถ่ายทอดออกมาสู่ละคร ภาพยนตร์ หนังสือเรียน เป็นต้น เข้ามาจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐ เพื่อให้คนในรัฐควรที่จะนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ซึ่งผีบรรพบุรุษดังกล่าวนี้ได้ถูกใช้จนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการปลุกผีชาวบ้านบางระจัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามก็ยังมีผีอีกตนหนึ่งซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าหลายท่านน่าจะรู้จักกันดี นั่นก็คือผีคอมมิวนิสต์กล่าวได้ว่าแท้จริงแล้วคอมมิวนิสต์ก็คือขบวนการทางการเมืองชนิดหนึ่งนั่นเอง ซึ่งแนวทางของคอมมิวนิสต์ต้องการที่จะสร้างสังคมที่ปราศจากชนชั้น และต้องการให้ประชาชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมกัน ดังนั้นผลกระทบจึงไปตกอยู่ที่กลุ่มนายทุนหรือชนชั้นนำในสังคม เพราะเนื่องจากขบวนการดังกล่าวนี้ถูกสถาปนาขึ้นสำเร็จเมื่อใด มันสะท้อนถึงการล่มสลายของตนเมื่อนั้น จึงเป็นความจำเป็นที่รัฐจะต้องจัดการความสัมพันธ์ภายในเพื่อป้องกันภัยดังกล่าว ดังนั้นการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ของรัฐจึงมีได้หลายวิธี อย่างเช่น ผู้มิตรกับประเทศโลกเสรีประชาธิปไตย ผูกมิตรกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม จับกุมและปราบปราม หรือไม่ก็"ปลุกผี"คอมมิวนิสต์ขึ้นมา

หากจะกล่าวว่ารัฐบาลปลุกผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมาก็คงจะไม่ผิด เพราะเนื่องจากในยุคสมัยดังกล่าวนั้นชาวบ้านยังไม่รู้จักว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร มีแต่เพียงรัฐเท่านั้นที่ได้สร้างภาพของคอมมิวนิสต์ให้กับประชาชน เพื่อผลประโยชน์ในทางการเมือง และต้องการจัดความสัมพันธ์ภายใน เพื่อไม่ให้ประชาชนไปยุ่งเกี่ยวกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ เพราะเนื่องจากแนวคิดดังกล่าวจะไปกระทบกับผลประโยชน์ของชนชั้นนำ

ความหวาดกลัวผีคอมมิวนิสต์ในสังคมไทยที่ถึงจุดขีดสุด โดยได้แสดงผ่านจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยกล่าวได้ว่าในช่วงก่อนหน้าของเหตุการณ์ดังกล่าว ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ประการทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เบเนดิก แอนเดอร์สัน ได้อธิบายถึงปัจจัยการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า เนื่องจากโครงสร้างทางชนชั้นของสังคมไทยได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ได้เกิดชนชั้นกลางใหม่ขึ้นเพราะเนื่องจากการเฟื่องฟูของเศรษฐกิจในยุคสงครามเวียดนามที่ได้ทำให้ทุนอเมริกันได้ทะลักหลั่งไหลเข้าประเทศ       

ความเฟื่องฟูดังกล่าวนี้เป็นเพราะประเทศไทยได้พึ่งพิงอยู่กับทุนอเมริกัน แต่เมื่อถึงปี 2518 ที่มั่นของอเมริกาในอินโดนจีนก็ทลายลงไป เพราะเนื่องจากการถอนทหารของสหรัฐฯ จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นอย่างมาก อีกทั้งความตึงเครียดในเรื่องของภัยคอมมิวนิสต์ก็ได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นประกอบกับการนัดหยุดงานของเหล่ากรรมกรและเกิดการชุมนุมโดยนักศึกษาหลายครั้ง จึงทำให้พวกชนชั้นกลางใหม่ได้รับความเดือดร้อน และเนื่องจากหนังสือพิมพ์นิตยสารไทยฉบับต่าง ๆ ที่ทรงอิทธิพลในสังคมจะอยู่ในอุ้งมือของกลุ่มธุรกิจใหญ่ ก็ได้เฝ้าโจมตีการนัดหยุดงานของเหล่ากรรมกรว่าทำลายชาติ การที่เศรษฐกิจย่ำแย่ลงนั้นเกิดจากกรรมกรทำอะไรไม่รับผิดชอบ ปัจจัยต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมานี้ได้ทำภาพลักษณ์ของนักศึกษากลายเป็น "พวกตกงาน ชอบปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย"และได้ตกเป็นเป้าหลักของอารมณ์ที่หงุดหงิดของบรรดาชนชั้นกลางใหม่ ดังนั้นการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาในช่วงนั้นได้กลายเป็นเป้าของความโกรธแค้นและเกลียดชังของชนชั้นกลางใหม่จึงนำไปสู่การล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนตุลาคม 2519[18]

จะเห็นได้ว่าความตึงเครียดในสังคมดังกล่าวนี้เป็นผลอันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบมาจนถึงสังคม อย่างไรก็ดีการสร้างผีของรัฐก็ได้มีส่วนอย่างมากในการเข้าไปสร้างความตึงเครียดในสังคม เพราะเนื่องจากการถอนทหารของอเมริกัน ได้ทำให้ความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์มีมากขึ้นเพราะจะไม่มีกองทัพอเมริกันคอยหนุนหลังอีกแล้ว การหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ดังกล่าวนี้ ก็เป็นผลอันเนื่องมาจากการสร้างผีของรัฐนั่นเอง อีกทั้งในช่วงเวลาก่อนการล้อมปราบ สื่อต่าง ๆ ของทางภาครัฐก็ล้วนมีบทบาทอย่างมากในการปลุกระดมและสร้างภาพของผีร้ายขึ้นอีกด้วย

การมองคนไม่ใช่คน การมองคนเป็นผีที่จะต้องถูกกำจัด ย่อมส่งผลให้เกิดความสูญเสียตามมาเป็นอย่างมาก แต่ถ้ามองกลับกันแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า รัฐกลับได้ประโยชน์อย่างมากในการใช้ผีเพื่อสร้างความมั่นคงของรัฐไทยเอาไว้ แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยความสูญเสีย หรือต้องถูกประณามอย่างไร มันก็ยังเป็นความโสมมที่สร้างผลประโยชน์ให้ในระดับที่น่าพอใจ


ยุคสมัยปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าในยุคปัจจุบันผีคอมมิวนิสต์หรือผีแนวที่ 5 จะเสื่อมพลังลงไปจนไม่สามารถที่จะใช้จัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐได้อีกแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีผีตนอื่นอย่างมากมายที่รัฐจะเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นผีบรรพบุรุษดังที่ได้กล่าวไป ที่ถูกขุดมาครั้งแล้วครั้งเล่า ผ่านทั้งหนังสือแบบเรียน สื่อโทรทัศน์ ละคร หรือภาพยนตร์ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกสร้างมาจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐทั้งสิ้น

ผีในปัจจุบันที่รัฐใช้ในการจัดการความสัมพันธ์ภายในที่บ่อยที่สุด แต่อาจจะอยู่นอกเหนือความสนใจและความรู้สึกของบุคคลทั่วไป นั่นก็คือ เหล่าบรรดาผีทั้งหลายที่ถูกสร้างขึ้นเป็นละคร หรือซีรีย์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะนำเสนอในเรื่องของความน่ากลัว แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านั้นกลับแฝงไว้ด้วยศีลธรรม ค่านิยมของรัฐไว้อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งผู้บริโภคสื่อดังกล่าวอาจจะไม่รู้สึกแต่สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ ซึมซับไปเรื่อย ๆ จนผู้บริโภคได้เดินตามค่านิยมของรัฐโดยไม่รู้สึกตัว

อีกทั้งสื่อในปัจจุบันที่ได้นำเสนอภาพของผีต่าง ๆ นั้น กล่าวได้ว่าผีเหล่านั้นก็ล้วนที่จะสอดคล้องกับชุมชนเมือง ที่ไม่ได้เป็นชุมชนเกษตรกรรมอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นผีจึงเป็นไปเพื่อสอดคล้องกับสังคมใหม่นี้ด้วย และผีดั้งเดิมจากชุมชนเกษตรกรรมก็กำลังจะเลือนหายไปจากสังคมไทยอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากผีปู่แสะย่าแสะที่มีการทำพิธีกรรมลดน้อยลง เพราะชุมชนเกษตรกรรมค่อย ๆ ลดหายไปเป็นชุมชนเมืองมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำการเกษตรกันแล้ว ก็คงเหลือแต่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังทำการเกษตรและยังต้องการให้มีพิธีกรรมนี้อยู่ แต่ก็ไม่มีกำลังมากพอที่จะจัดพิธีกรรมดังกล่าว จากสภาพนี้อาจจะทำให้พิธีกรรมผีปู่แสะย่าแสะต้องยุติลงในไม่ช้า แสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมหรือผีที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนจะค่อย ๆ หมดไป[19]

กล่าวได้ว่าการสร้างผีและการผลิตซ้ำของทั้งชุมชนเกษตรกรรมและของรัฐค่อนข้างที่จะแตกต่างกันอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากการสร้างผีของชุมชนนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้พิธีกรรมในการผลิตซ้ำ และต้องใช้กำลังคนและทรัพย์ค่อนข้างมากซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมของชุมชนที่ยังมีการพึ่งพากันสูง แต่ในทางกลับกันเมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยน มันได้ส่งผลให้สังคมต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งรัฐก็ได้เข้ามาจัดการทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่ในชุมชน

อีกทั้งนโยบายการมุ่งเข้าสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมก็ได้ทำให้ชุมชนเมืองเกิดการขยายตัวมากยิ่งขึ้น ชุมชนเกษตรกรรมก็ถูกกลืนให้เป็นชุมชนเมือง ดังนั้นการใช้ผีแบบเดิมมาเป็นตัวจัดการความสัมพันธ์ภายในจึงไม่สามารถที่จะทำได้สะดวก และไม่ตอบสนองต่อคนหมู่มาก อีกทั้งการทำพิธีก็มีความสิ้นเปลืองมากทั้งทรัพย์และเวลา(ที่มีค่าอย่างมากในโลกของทุนนิยม) จึงทำให้พิธีกรรมและผีแบบชุมชนต้องหมดความสำคัญลงไป

การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเมืองจะมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ผีในการเข้ามาควบคุมศีลธรรม ผ่านการผลิตซ้ำแบบใหม่ซึ่งไม่ใช่พิธีกรรม แต่เป็นการใช้สื่อแทน ดังเช่นละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เป็นต้น การผลิตซ้ำแบบนี้ไม่ต้องการส่วนร่วมที่มากมาย ไม่ต้องเสียเวลา เพียงแค่รับชมเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นแต่กลับซึมซับได้อย่างมากมาย และรัฐไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองหรือเสียเวลามากมายอย่างพิธีกรรมชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับการเป็นสังคมในยุคโลกาภิวัตน์

ย้อนกลับมาที่เรื่องทักษิณ การทำให้ทักษิณให้กลายเป็นผีของชนชั้นนำไทยนั้น กล่าวได้ว่าเริ่มก็ร่างสร้างตัวมาก่อนที่ทักษิณจะขึ้นมามีบทบาททางการเมืองเสียอีก โดยตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เป็นต้นมาอำนาจนำของกลุ่มกษัตริย์นิยมถูกสร้างขึ้นด้วยการมีส่วนร่วมในการเมืองแบบรัฐสภา อีกทั้งอุดมการณ์กษัตริย์นิยมมีส่วนร่วมในทางการเมืองด้วยการดำรงอำนาจทางศีลธรรมที่เหนือกว่าสถาบันการเมืองปกติที่ถูกมองว่าสกปรกและฉ้อฉล กลุ่มกษัตริย์นิยมจึงจับมือกับขบวนการพลเมืองและประชาชนผลักดันวาทกรรม "ทำการเมืองให้สะอาด"โดยวาทกรรมดังกล่าวนี้แฝงไปด้วยแนวคิดที่ไม่ไว้ใจนักการเมือง นักการเมืองนั้นต่างฉ้อฉลที่สุด ผ่านการผลิตซ้ำวาทกรรมดังกล่าวครั้งแล้วครั้งเล่าจนทำให้สังคมนั้นต่างคิดว่าปัญหาทางการเมืองนั้นอยู่ตรงที่ตัวนักการเมือง[20]ซึ่งธงชัย วินิจจะกูล ได้เปรียบเปรยไว้ว่า "...หาก "ภัยคอมมิวนิสต์"เป็นเหตุผลบังหน้าที่กองทัพมักใช้เมื่อก่อการรัฐประหารในสมัยสงครามเย็น "คอร์รัปชั่น"ก็เป็นเหตุผลบังหน้าที่มักใช้เพื่อทำรัฐประหารหลังจากนั้นมา..."[21]

ดังนั้นจึงไม่ยากเลยที่จะกล่าวว่าผีทักษิณนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ส่วนหนึ่งก็มาจากวาทกรรมทำการเมืองให้สะอาดนั่นเอง อีกทั้งเทวดาที่เกิดขึ้นมาก็เพราะว่าการครองอำนาจนำทางศีลธรรมทางการเมืองเอาไว้ได้ เมื่อทักษิณได้เข้าไปทำให้อำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำเสียสมดุล การทำการเมืองให้ใสสะอาดจึงจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น โดยเข้าไปสร้างให้ทักษิณกลายเป็นผีร้ายของการเมืองไทย พร้อม ๆ ไปกับการสร้างเทวดา อย่างไรก็ตามผีทักษิณกลับไปหลอกหลอนตรรกะของชนชั้นนำและชนชั้นกลางให้มองปัญหาทุกอย่างไม่เกินไปกว่าตัวของทักษิณ

การมองข้ามทุกอย่างไม่พ้นจากทักษิณ อะไร ๆ ก็ทักษิณ คนที่มีความคิดฝั่งตรงข้ามก็กลายเป็นคนของทักษิณไปเสียหมด ประชาธิปไตยคือการยอมรับความเห็นต่างของคนทุกคน ดังนั้นการทำการเมืองให้สะอาด ด้วยการมองปัญหาผ่านผีทักษิณ มันจึงสะอาดเพียงแค่ชื่อแต่เพียงเท่านั้น


สรุปและข้อเสนอแนะ

กล่าวโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่าการสร้างผีและการใช้ผี เป็นหนึ่งในทางเลือกของการจัดการความสัมพันธ์ภายในของทั้งชุมชนและรัฐ เป็นการจัดการว่าชีวิตของผู้คนในชุมชนหรือในรัฐควรจะดำเนินชีวิตไปอย่างไร เชื่อถืออะไรและไม่เชื่อถืออะไร แต่จะแตกต่างตรงวิธีการสร้าง การผลิตซ้ำ และจุดประสงค์ของการใช้ ดังจะเห็นได้ว่าชุมชนเกษตรกรรม ซึ่งมีวิถีการผลิตเพื่อการยังชีพได้ใช้ผีในการจัดการความสัมพันธ์ภายในของชุมชน ให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างพอประมาณ ผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเสมือนการผลิตซ้ำซึ่งมีนัยยะเป็นไปในการให้ผู้คนต่าง ๆ ในชุมชนมาร่วมแรงร่วมใจในพิธีกรรม อันเป็นนัยยะแห่งการสร้างความสามัคคีในชุมชน

ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่การสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กินเวลาไปจนถึงการสร้างรัฐชาติ การสร้างผีก็ยังคงถูกใช้อย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งการสร้างผีดีและผีร้าย มาคอยจัดการความสัมพันธ์ภายในของรัฐอยู่เสมอ แต่การผลิตซ้ำนั้นไม่ได้กระทำผ่านพิธีกรรม แต่เป็นการใช้สื่อทั้งวิทยุ ป้ายประกาศ การผลิตซ้ำวาทกรรมเหล่านี้เป็นต้น แทนการทำพิธีกรรม ขณะเดียวกันการใช้ผีเพื่อใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามทั้งในสังคมและการเมืองระดับชาติ ทำให้เห็นได้ว่าผีที่ถูกใช้ในการสร้างผลประโยชน์ดังกล่าวนี้ก็เป็นที่น่าหวาดกลัวอยู่ในสังคมพอสมควร

เช่นเดียวกันกับในปัจจุบันที่สังคมมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การใช้ผีก็จำเป็นที่จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมแบบใหม่ ผ่านการผลิตซ้ำวาทกรรมต่าง ๆ  โดยสื่อโทรทัศน์ที่เรียกได้ว่าสื่อดังกล่าวแทบจะครอบคลุมทุกส่วนของประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นการทำให้คนในสังคมปฏิบัติตนตามค่านิยมและศีลธรรมที่รัฐได้วางเอาไว้ และดังที่ได้กล่าวไว้เราจะเห็นได้ว่าสังคมไทยนั้นได้เกิดผีขึ้นอย่างมากมาย โดยพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่การศึกษา สื่อ องค์กรรัฐและเอกชน เป็นต้น ก็จะมีผีของตนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดการและกำกับความสัมพันธ์ภายในพื้นที่ของตนอีกด้วย ซึ่งผู้เขียนไม่ขออธิบายในส่วนนี้แต่ก็คงจะทำให้เห็นภาพแล้วว่าการใช้ผีก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่สามารถทำได้ในทุกพื้นที่อีกด้วย

กล่าวได้ว่าบทความนี้อาจจะมีบ้างที่ผู้เขียนนั้นได้นำเสนอข้อมูลตกหล่นหรือตีความคลาดเคลื่อน แต่หลัก ๆ ก็เพื่อที่จะต้องการนำเสนอให้เห็นภาพตัวอย่างของการใช้ผีมาจัดการความสัมพันธ์ภายในพื้นที่ต่าง ๆ ของรัฐผ่านการผลิตซ้ำทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ส่วนข้อเสนอแนะ ผู้เขียนมีข้อสงสัยอยู่ว่าถึงแม้ว่าการพึ่งพาผีนั้นจะสามารถจัดการความสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือใช้ควบคุมศีลธรรมของคนให้อยู่ในแนวทางที่ต้องการกำหนดได้ และถึงแม้ปัจจุบันจะมีการใช้ผีหรือสร้างผีอย่างมากมายในสังคม แต่ถ้าหากการใช้ผีนั้นเป็นไปเพื่อการทำลายศัตรูทางการเมือง หรือเป็นไปเพื่อการให้ร้ายและมองคนไม่ใช่คน เราจะมีวิธีการแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ซึ่งผู้เขียนได้ขอหยิบยกคำกล่าวของอาจารย์ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า"...ถ้าเราต้องหันกลับไปพึ่งผี หรือใช้ผีในการจัดการสิ่งต่าง ๆ มันแสดงและสะท้อนว่าการใช้เหตุผลของเราค่อนข้างที่จะมีปัญหา..."

จากคำกล่าวนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าการใช้เหตุผลในการพูดคุยกันในสังคมน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการความสัมพันธ์ภายใน ควรมองข้ามปัญหาทุกอย่างให้พ้นจากผีและการทำลายล้างซึ่งกันและกันจะลดน้อยลง ถึงแม้ว่าผีตัวเก่าจะสูญสลายลงไป เราไม่จำเป็นเลยที่จะต้องสร้างผีตัวใหม่มาแทน สิ่งที่เราควรสร้างในสังคมไทยนั้นไม่ใช่ผี แต่ควรจะเป็นหลักการของการใช้เหตุผล

"สังคมนั้นจะเป็นสุขได้ถ้าหากเรานั้นใช้เหตุผล และการมองคนให้เป็นคนที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่มองคนให้เป็นผี"

 

 

 

เชิงอรรถ

[1] มติชนออนไลน์, “ทักษิณ” ห่วงศก.ไทยแย่ สั่งเสื้อแดง-พท.อย่าขวาง, http://www.matichon.co.th /news_detail.php? newsid=1420504947 &grpid=03&catid=15.

[2] จากที่ได้กล่าวไปนี้คือความคิดรวบยอดที่ได้จากการอ่านความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายความคิดทางการเมือง อาจจะไม่ตรงกับท่านผู้อ่าน หากสนใจโปรดดูความคิดเห็นใน https://www.facebook.com/quoteV2/photos/pb.511585615610016.-2207520000.1420787317. /620427004725876 /?type=3&theater.

[3] Voice TV21,พท.ท้วงอย่ากล่าวหา 'ทักษิณปั่นหุ้น'จนร่วง 138 จุด, http://news.voicetv.co.th/thailand/145869.html.

[4] หากท่านผู้อ่านสนใจในรายละเอียดของการเมืองไทยที่มีรายระเอียดและเนื้อหาครอบคลุมช่วงเวลา 2550 ถึง 2551 โปรดดู นิธิ เอียวศรีวงศ์.(2553).  การเมืองเรื่องผีทักษิณ. กรุงเทพฯ :โอเพ่นบุ๊กส์. 

[5] นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองเรื่องผีทักษิณ, (กรุงเทพฯ :โอเพ่นบุ๊กส์, 2553) ,หน้า 21-22

[6] เรื่องเดียวกัน หน้า 23

[7] เรื่องเดียวกัน หน้า 23

[8] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติไทย,เมืองไทย,แบบเรียนและอนุสาวรีย์, (กรุงเทพฯ :มติชน, 2547) ,หน้า 6   

[9] เรื่องเดียวกัน หน้า 4

[10] อานันท์ กาญจนพันธุ์, เจ้าที่และผีปู่ย่า:พลวัตของความรู้ชาวบ้าน อำนาจ และตัวตนของท้องถิ่น, (เชียงใหม่ :ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555) ,หน้า 4   

[11] เรื่องเดียวกัน หน้า 33

[12] เรื่องเดียวกัน หน้า 86

[13] เรื่องเดียวกัน หน้า 86-87

[14] จิตร ภูมิศักดิ์, โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา, (กรุงเทพฯ :ฟ้าเดียวกัน, 2547) ,หน้า 35  

[15] วงเล็บโดยผู้เขียน

[16] พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต, (กรุงเทพฯ :มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2546) ,หน้า 99

[17] อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, ถูกฟ้องในข้อหาเป็นแนวที่ 5,http://www.catholic.or.th/main/index.php?option=com_content&view=article&id=3401:nicolas2five&catid=160&Itemid=419

[18] หากผู้อ่านสนใจ โปรดดู เบเนดิก แอนเดอร์สัน,บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคมใน ตุลา-ตุลา สังคม-รัฐไทย กับความรุนแรงทางการเมือง, (กรุงเทพฯ :มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2556) ,หน้า 169-230

[19] อานันท์ กาญจนพันธุ์,อ้างแล้ว ,หน้า 33

[20] ธงชัย วินิจจะกูล, ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง, (นนทบุรี :ฟ้าเดียวกัน, 2556) ,หน้า 99-100  

[21] เรื่องเดียวกัน หน้า 100 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ชนาวุธ บริรักษ์ เป็น นิสิตระดับปริญญาตรี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษกUNHCR ประจำไทย เผยปิดปรับปรุงเพจ ‘UNHCRThailand’ ปฏิเสธให้ความเห็นประเด็น ‘ตั้ง อาชีวะ’

$
0
0

บีบีซีไทย เผยโฆษกยูเอ็นเอชซีอาร์ประจำไทยปฏิเสธให้ความเห็นกรณี ตั้ง อาชีวะยันหลักการให้สถานะผู้ลี้ภัยไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่เพื่อมนุษยธรรม ระบุยูเอ็นเอชซีอาร์เป็นกลางไม่เคยคิดดูหมิ่น ยอมรับหากไม่มีเงินบริจาคจากไทย จะส่งผลต่อผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศ

 

 

หลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยบางส่วนเข้าไปจี้ถามประเด็นการให้สถานะผู้ลี้ภัย เอกภพ หรือ ‘ตั้ง อาชีวะ’ ผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดตามมาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘UNHCRThailandของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย  รวมทั้งประกาศตัดเงินบริจาค จะถึงขู่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ของ UNHCR ที่เข้ารับการขอบริจาค (อ่านรายละเอียด)จนกระทั่งเฟซบุ๊กแฟนเพจดังกล่าวได้ปิดตัวลงชั่วคราว (อ่านรายละเอียด)

ล่าสุดวันนี้(14 ม.ค.58) บีบีซีไทย - BBC Thaiได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ วิเวียน ตัน โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ประจำประเทศไทย ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า  ขณะนี้เฟซบุ๊กแฟนเพจดังกล่าวได้ปิดปรับปรุง

ตัน ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องการให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ ‘ตั้ง อาชีวะ’ ผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยระบุว่าไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ความเห็นกรณีส่วนบุคคลกรณีใดกรณีหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่ดำเนินการโดยยูเอ็นเอชซีอาร์ หรือหุ้นส่วน ทั้งนี้เพื่อเหตุผลในการให้ความคุ้มครองและในกรณีที่เป็นความลับ

ตัน กล่าวว่า หน้าที่ของยูเอ็นเอชซีอาร์คือช่วยเหลือผู้หนีภัยความขัดแย้งและความรุนแรงทั่วโลกโดยการทำงานร่วมกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ การให้สถานะผู้ลี้ภัยกับใครจึงไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่เพื่อมนุษยธรรม ส่วนการที่ประเทศใดจะตัดสินใจให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ผู้ยื่นขอนั้นขึ้นกับแต่ละประเทศ บางประเทศมีรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่บางประเทศ เช่นไทย ไม่มีระบบดำเนินการเรื่องนี้ ยูเอ็นเอชซีอาร์จะเป็นผู้ดำเนินการให้กับผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่นที่มาอยู่ในไทย

สำหรับนิวซีแลนด์นั้น ตันบอกว่ามีระบบภายในในการดำเนินการและจะตัดสินใจเองว่าจะให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ใครหรือไม่ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในประเทศไทย “เราพยายามทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลเพราะเราต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลทั่วโลก สำหรับกรณีที่เป็นประเด็นอยู่นี้ ไม่ว่ายูเอ็นเอชซีอาร์ได้ดำเนินการสิ่งใดลงไป ขอยืนยันได้ว่าไม่มีเจตนาที่จะดูหมิ่นหรือสร้างความไม่พอใจให้แก่ทางการไทย” ตันกล่าว

โฆษกยูเอ็นเอชซีอาร์ ประจำประเทศไทย บอกว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่มีการเสนอให้ยกเลิกการให้เงินบริจาคแก่ยูเอ็นเอชซีอาร์ เพราะยูเอ็นเอชซีอาร์พึ่งพิงเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เงินเหล่านั้นนำไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากพม่าและประเทศอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในไทย คนเหล่านี้อยู่ในฐานะที่อ่อนแอ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก “ที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศที่โอบอ้อมอารีในการยอมรับผู้ลี้ภัย เป็นแหล่งพักพิงของผู้ลี้ภัยมากกว่า 1 ล้านคน ทั้งจากอินโดจีนในอดีตและปัจจุบันจากพม่ากับประเทศอื่น ๆ”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจ ปอท. แถลงจับชโย ผู้ต้องสงสัยแชทเฟซบุ๊กหมิ่นสถาบันฯ เตรียมขยายผลจับอีก2-3คน

$
0
0

ตำรวจ ปอท. แถลงจับกุม ชโยผู้ต้องสงสัยแชทเฟซบุ๊กหมิ่นสถาบันฯ หลังไมค์ส่งต่อให้ พงษ์ศักดิ์ผู้ต้องหาที่ถูกจับไปแล้วก่อนหน้านี้ ระบุเจ้าตัวรับสารภาพ เตรียมขยายผลจับอีก2-3คน

 

14 ม.ค.2558 มติชนออนไลน์รายงานว่า ชโย หรือ จำเริญ (ประชาไทขอสงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดสระแก้ว ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานด้านความมั่นคงจับกุมได้ หลังจากนายชโยที่ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Uncha Unyo เผยแพร่รูปภาพและข้อความที่มีลักษณะหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112

พล.ต.ต. ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผบก.ปอท. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ต้องหาที่กระทำลักษณะเดียวกันไปแล้วส่วนนึง และพบว่ามีการกระทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งชโยเป็นผู้รวบรวมข้อมูลและแสดงความคิดเห็นส่งต่อให้ พงษ์ศักดิ์ ( ประชาไท ขอสงวนนามสกุล ผู้ต้องหาที่ถูกจับไปแล้วก่อนหน้านี้ อ่านรายละเอียด) ผ่านทางระบบเเชทของเฟซบุ๊ก ไปดัดแปลงแก้ไขและเผยแพร่ตามเฟซบุ๊กก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถาบัน

ขณะที่ ชโยให้การยอมรับสารภาพทุกประการว่าตนเองได้เห็นภาพ ข้อความ คลิปเสียงที่มีการปลุกระดมในเฟซบุ๊กจนเกิดความคล้อยตามจึงได้ลงมือกระทำเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อเนื่องมานานกล่าว1ปี พร้อมฝากเตือนประชาชนทั่วไปว่าการกระทำเช่นนี้ผิดกฎหมายข้อความทุกอย่างไม่เป็นความจริง มีเจตนาให้เกิดความแตกแยกในสังคม

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่เตรียมที่จะขยายผลจับกุมผู้กระทำผิดกรณีนี้อีก2-3คนซึ่งอยู่อยู่ระหว่างการติดตามตัว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

6 ประชาสังคมค้าน กม.ชุด ศก.ดิจิทัล ชี้แฝงประเด็น 'ความมั่นคง'ดึงคลื่นกลับสู่ รัฐ-กองทัพ

$
0
0

6 องค์กรภาคประชาสังคมค้านชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับ ชี้ละเมิดสิทธิหลายด้าน อ้าง 'เศรษฐกิจ'แฝงประเด็น 'ความมั่นคง'เปลี่ยนหลักการปฏิรูปสื่อ ดึงกลับไปที่รัฐ-กองทัพ ไม่แก้ปัญหาเก่า ซ้ำรวบรัดเสนอกฎหมาย

14 ม.ค. 2558 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีการแถลงข่าวหลังการประชุมของเครือข่ายภาคประชาสังคม 6 องค์กร กรณี ครม.อนุมัติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ. เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล จำนวน 8 ฉบับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ เกี่ยวกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2557

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต แถลงข่าวในนามเครือข่ายภาคประชาสังคม 6 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มูลนิธิโลกสีเขียว FTA Watch กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน และเครือข่ายพลเมืองเน็ต ตั้งข้อสังเกตต่อว่า ชุดกฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพในหลายด้าน ผูกขาดทรัพยากร และไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้เป็นการใช้ข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนออกมาในร่างกฎหมายที่ให้อำนาจภาครัฐมากขึ้นในการจัดสรรทรัพยากร สัดส่วนของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตัดกรรมการด้านสิทธิเสรีภาพและผู้แทนภาคประชาชนออกไปและแทนที่ด้วยกรรมการจากฝ่ายความมั่นคง การไม่พูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภค การรับประกันการเข้าถึงโดยผู้ด้อยโอกาสในสังคม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกต่อไป อีกทั้งไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรกำกับ แต่กลับสร้างองค์กรที่อาจมีปัญหาแบบเดียวกันเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ กระบวนการเสนอกฎหมายยังทำไปด้วยความรวบรัด ขาดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ข้อสังเกตจากภาคประชาสังคมทั้ง 6 องค์กร

  1. ชุดกฎหมายเหล่านี้โดยเนื้อแท้ ไม่ใช่กฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” แต่เป็นชุดกฎหมายความมั่นคง
  2. เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.กสทช. เป็นการถือโอกาสดึงคลื่นความถี่กลับมาอยู่ในมือภาครัฐและกองทัพ  ซึ่งจะกลับไปเหมือนในสมัยก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 กฎหมายชุดนี้ทำลายหลักการที่ว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อ ประโยชน์สาธารณะ และทำลายกลไกการแข่งขันเสรีเป็นธรรม จนกล่าวได้ว่าเป็นกฏหมายเพื่อ “เศรษฐกิจและกองทัพ”
  3. ร่างพ.ร.บ.กสทช.ทำลายความเป็นองค์กรอิสระของกสทช.
  4. ที่ผ่านมาภาคประชาชนเห็นร่วมกันว่ากสทช.จำเป็นต้องพัฒนาระบบธรรมาภิบาลให้ดี ขึ้น ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณและการใช้อำนาจ แต่ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ไม่ได้แก้ปัญหาดังกล่าว และยังมีร่างกฎหมายใหม่อีกหลายฉบับที่จะสร้างหน่วยงานที่มีโครงสร้างงบประมาณและการบริหารลักษณะคล้ายกันขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
  5. กองทุนที่มา จากรายได้ของกสทช. ถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปจากเดิมเป็นอย่างมาก วัตถุประสงค์เดิมในการเป็นกองทุนวิจัยพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่งเสริมคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และส่งเสริมจริยธรรมการประกอบวิชาชีพได้หายไปหมด และกลายสภาพเป็นกองทุนเพื่อให้รัฐและเอกชนกู้ยืม
  6. ร่างกฎหมายหลายฉบับไม่ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างที่อ้าง อีกทั้งคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัวที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และกระทบการประกอบธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสาร
  7. ร่างกฎหมายทั้งหมดขาดกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคที่ชัดเจน อีกทั้งสัดส่วนของคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นชัดที่สุดคือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีการตัดกรรมการด้านสิทธิและผู้บริโภคออกไป 3 ตำแหน่ง และเพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามา 2 ตำแหน่ง
  8. ความไม่ชัดเจนของสถานะทางกฎหมายของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็น “หน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ” ว่าสำนักงานและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจะมีความรับผิดตามกฎหมายอย่างไร มีกลไกร้องเรียนตรวจสอบได้ทางไหน


อาทิตย์ระบุว่า ขณะนี้ที่ทางกลุ่มเห็นร่วมกันคือ อาจไม่สามารถดูแยกรายมาตราหรือรายกฎหมายได้ เพราะทั้งสิบฉบับทำให้โครงสร้างการใช้อำนาจเปลี่ยนไปหมด และจะทำให้หลักคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งกลุ่มที่ทำเรื่องปฏิรูปสื่อทำกันมาตั้งแต่ก่อน 2540 ต้องกลับไปนับหนึ่งกันใหม่

สำหรับการเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ อาทิตย์ กล่าวว่า เบื้องต้น จะรวบรวมข้อเสนอไปทั้งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยจะทำหนังสือถึง สปช. ภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องใช้วิธีแถลงข่าวก็เพราะอยู่ใต้กฎอัยการศึก ใน สนช. เราไม่มีผู้แทนราษฎรเป็นปากเสียงให้ร้องเรียนได้ จึงต้องอาศัยช่องทางสื่อมวลชนเพื่อให้ไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ย้ำว่า ไม่ได้ค้านการพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ค้านเรื่องการใช้เศรษฐกิจเป็นข้ออ้างด้านความมั่นคงมากกว่า อาทิ ประเด็นเรื่องการขอข้อมูลที่ทำได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล ส่วนตัวแม้ยอมรับว่ามีบางกรณีที่อาจจำเป็นต้องขอข้อมูลเพื่อความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่รัฐบาล หรือเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย แต่มองว่าเรื่องนี้มีเขียนไว้อยู่แล้วใน พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากศาลก่อน แต่ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์นี้ไม่ต้องขอเลย นอกจากนี้ ยังมีความกังวลจากผู้ประกอบการเว็บโฮสติ้งด้วยว่า เมื่อกฎหมายออกมาจะทำให้ผู้ใช้บริการในประเทศไม่มั่นใจว่า ข้อมูลที่ฝากไว้ที่เซิฟเวอร์ในไทยจะปลอดภัยไหม อาจทำให้มีการย้ายไปต่างประเทศ ถามว่า หากลูกค้าย้ายไปจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลไทยอย่างไร

อาทิตย์ระบุด้วยว่า แม้ที่ผ่านมา เครือข่ายพลเมืองเน็ตเองจะสนับสนุน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาตลอด เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครอง และรองรับการประกอบธุรกิจในยุคนี้ที่หลายประเทศต่างก็มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของตัวเอง และที่ผ่านมา มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อ 7 ต.ค. 57 ซึ่งร่างก็พอโอเค แต่เมื่อมีการเสนอร่างเมื่อ 6 ม.ค. มีการตัดกรรมการสามคนด้านคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออก แล้วเพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามาแทน ก็ยากจะสนับสนุนเหมือนกัน

ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีมีความพยายามเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติม มีบทเรียนจากเกาหลีใต้ ซึ่งเคยมีความพยายามออกกฎหมายคล้ายๆ กันเรื่องเก็บเลขบัตรประชาชน โดยหลังใช้นโยบายนี้ได้สองปีครึ่ง ก็เกิดตลาดมืดในการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล จากความตั้งใจไม่อยากให้อาชญากรปลอมตัว ก็กลายเป็นมีการใช้เลขบัตรคนอื่น จับตัวใครไม่ได้ และสร้างปัญหาใหม่ทำให้เจ้าของบัตรตัวจริงเดือดร้อนไปด้วย ซึ่งสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีก็ยกเลิกเรื่องนี้ไป เมื่อมีบทเรียนแบบนี้ ถามว่า ไทยจะทำซ้ำรอยเขาไหม

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) แสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข ว่า มีการแก้ไขให้ดีขึ้นหลายมาตรา อาทิ มาตรา 14(1) เพิ่มว่า การนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ต้องเป็นข้อมูลเท็จเพื่อหลอกลวงให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น ทำให้ตัดเรื่องการหมิ่นประมาท ซึ่งมักถูกทำมาใช้ฟ้องคู่กับกฎหมายหมิ่นประมาทออกไป รวมถึงมีการลดโทษการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกลง จาก 5 ปีเหลือ 3 ปี รวมถึงมาตรา 15 เรื่องความรับผิดของตัวกลาง เพิ่มเรื่องการแจ้งเตือน โดยระบุว่า ถ้าผู้ให้บริการดำเนินการตามกระบวนการแจ้งเตือนแล้ว จะไม่มีความผิด แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่ากระบวนการแจ้งเตือนเป็นอย่างไร และทั้งหมดยังขึ้นกับผู้ให้บริการในการใช้ดุลยพินิจ

ยิ่งชีพกล่าวว่า โดยรากฐานของปัญหายังไม่ถูกแก้ไข แก้ที่ปลายปัญหาเท่านั้น แต่ไอลอว์ไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายฉบับนี้ กฎหมายที่เสนอแบบปุบบับ ขาดการรับฟังความคิดเห็น ขาดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานต่างๆ และภาคประชาชน แล้วออกมาในสถานการณ์ที่หน่วยงานที่มีอำนาจออกกฎหมายมาจากการแต่งตั้งโดยทหาร เป็นกฎหมายที่เราไม่สนับสนุน แม้จะมีเนื้อหาบางอย่างดี แต่ก็ไม่ได้ดีทั้งหมด  ยังมีปัญหา เช่น การเพิ่มความผิดเรื่องโป๊เด็ก ที่ค่อนข้างเข้มงวด มีโทษสูงสุดจำคุก 6 ปี ซึ่งยังขาดนิยามเรื่องลามกอนาจารว่าเป็นอย่างไร เด็กอายุสามเดือนไม่ใส่เสื้อผ้าเป็นไหม การ์ตูนจะเป็นไหม กฎหมายเขียนว่า "รูปภาพลามกอนาจาร"ไม่รู้รวมถึงวิดีโอด้วยไหม หรือเรื่องการครอบครองเพื่อเผยแพร่เป็นความผิด ถามว่าเราจะรู้ได้ไงว่าใครมีเพื่อเผยแพร่หรือไม่ มันชี้เจตนาลำบาก และอาจเกิดการยัดข้อหาได้ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ความเปลี่ยนแปลง "ชนบท"ในสังคมไทย: บนความเคลื่อนไหวสู่ ปชต.

$
0
0

14 ม.ค. 2558 - ในการสัมมนาหัวข้อ "ความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายและซับซ้อนของสังคมไทยจากวิธีคิดและวิธีการทางประวัติศาสตร์"จัดโดยสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ห้อง HB7801 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอผลการศึกษาบางส่วนจากโครงการศึกษาวิจัย "ความเปลี่ยนแปลง “ชนบท”ในสังคมไทย: บนความคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย Changes in Thai “Rural” Society: Democracy on the move"ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกอ. นั้น

ในช่วงท้าย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์ ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าวได้นำเสนอหัวข้อ"ความเปลี่ยนแปลง “ชนบท” ในสังคมไทย: บนความเคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย"

 

 

000

ทั้งนี้อรรถจักร์ กล่าวว่า "มันถึงจังหวะหรือความจำเป็นของประวัติศาสตร์ ของเวลาในวันนี้ ที่จะต้องเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ Murray Bookchin เป็นนักประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักปรัชญาชาวอเมริกัน เป็นบุกเบิกแนวคิดเรื่องนิเวศน์วิทยาทางสังคม เขาสรุปว่า "มันมีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องเขียนประวัติศาสตร์ใหม่"

"ในโอกาสครบรอบ 50 ปีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมขอถือโอกาสกล่าวว่า เราควรมาคิดอะไรกันบ้างในวาระโอกาสนี้ ไม่ใช่เรามานั่งคุยกันเฉยๆ ถ้าเรานั่งฟังสัมมนามาตั้งแต่ช่วงเช้า เรื่อยมาจนถึงช่วงอาจารย์สมชาย ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สะดุดเราคือ สิ่งที่พูดทั้งหมด ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ขนบ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์แบบที่เราเข้าใจ ดังนั้นสิ่งที่เราจะคิดกันในรอบ 50 ปีนี้ เราคงต้องคิดต่อไปว่าประวัติศาสตร์คืออะไร แน่นอนว่าหมายถึงมนุษยศาสตร์ด้วย ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะตกอยู่ในกับดักที่เรียกว่ามนุษยศาสตร์ตายแล้ว

หนังสือลงในนิวยอร์กไทมส์ ถ้าผมจำไม่ผิดวันสองวันก่อนเขาบอกว่า Humanity (มนุษยธรรม) ตายแล้วถ้าหากไม่ปรับตัว และส่วนที่สองผมจะพูดเรื่องความเปลี่ยนแปลงในชนบท โดยมีคำสำคัญ 2 คำคือ "การเปลี่ยนแปลงในชนบท"และ "การเคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย"

"มันมีความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไพศาล และความเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ ทำให้คนทั้งโลก คนในโลก และสังคมโลกทั้งหมดต้องการประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และอดีตใหม่ ความเปลี่ยนแปลงนี้เองเราจะชี้ให้เห็นเลยว่าความต้องการอดีตและประวัติศาสตร์ใหม่ในแต่ละช่วงเวลา ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เป็น need (ความจำเป็น) ของสังคม ประวัติศาสตร์เป็นความต้องการที่จะอธิบายปรากฏการณ์หนึ่งๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อไหร่ที่เกิดสภาวะอธิบายปัจจุบันไม่ได้ด้วยความรู้เดิม จะนำไปสู่วิกฤต เกิดภาวะ Chaos (ภาวะอลหม่าน) มากมาย เกิดความสับสนงุนงงตึงเครียด เพราะเราไม่รู้ว่ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร"

"ในงานวิจัยนี้ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์นักวิชาการด้านไทยศึกษาชาวญี่ปุ่น 10 คน เขาตอบตรงกันว่าจะกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ไทยใหม่ คำถามแรกที่ผมถามคือ 'คุณเคยคิดไหมว่า ประเทศไทยสังคมไทยจะมาถึงจุดนี้'ทั้งหมดตอบตรงกันว่า 'ไม่เคยคิด'เมื่อถามว่าไม่คิดแล้วจะทำอย่างไรเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ เขาตอบว่า 'จะกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ไทยใหม่'ทั้งหมดนี้คือนักไทยศึกษาชาวญี่ปุ่นที่ชำนาญเรื่องประวัติศาสตร์ไทย รวมทั้ง (โยชิฟูมิ) ทามาดะ ด้วย"

"ถ้าหากเราไม่เข้าใจสิ่งนี้ เราสับสน งุนงง และจะมีความตึงเครียดสูงมากขึ้น ในวันนี้เองนักประวัติศาสตร์อเมริกันผู้เชี่ยวชาญสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เขียนบทความสั้นๆ บอกว่าสภาวะนี้เหมือนกับสภาวะก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 และเขากำลังงุนงงว่าจะเดินไปอย่างไร นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นว่าทำไมเราต้องการประวัติศาสตร์ใหม่ ความรู้ประวัติศาสตร์ จึงไม่ใช่ความรู้เรื่องอดีต เพื่ออดีต ผมคิดว่าคนในสังคมไทยจำนวนมากเกือบ 90% คิดว่าอดีตเพื่ออดีต หรือประวัติศาสตร์เป็นเรื่องอดีต คนที่เรียนประวัติศาสตร์ จะเจอพ่อแม่ถามว่าเรียนประวัติศาสตร์ไปเพื่ออะไร จะหากินอะไรวะ เพราะเราคิดว่าประวัติศาสตร์คืออดีต แต่จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์คือความรู้ที่จะตอบเรื่องราวปัจจุบัน ความรู้ประวัติศาสตร์/อดีต จึงเป็นเสมือนพลังหลักค้ำจุน/ผลักดัน ให้ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่วาดหวัง เป็นไปได้ทั้งในทางที่งดงามและเลวร้าย

ซึ่งแน่นอนไม่จำเป็นต้องดีหรือเลว ฮิตเลอร์เคยเสนอประวัติศาสตร์เยอรมันชุดหนึ่งนำไปสู่สงครามโลก แต่นั่นแปลว่าตัวความรู้ประวัติศาสตร์มันผลักดันสังคมทั้งหมด สิ่งที่น่าตกใจคือเรามีความพยายามจะผลักดันแบบนี้ ลองนึกถึง "ค่านิยม 12 ประการ"ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจตรงนี้ให้ชัดว่า ผมคิดว่าสังคมไทยจำเป็นต้องเข้าใจ แต่น่าตกใจคือสังคมไทยไม่เข้าใจ

อะไรทำให้เกิดความต้องการประวัติศาสตร์ใหม่ ผมคิดว่าโลกหลังทศวรรษ 1990 เปลี่ยนอย่างไพศาล เปลี่ยนอย่างมากมาย ลึกซึ้ง เปลี่ยนความหมายของตัวตนของเราและความหมายรัฐชาติ การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน การล่มสลายของโลกคอมมิวนิสต์ ไม่ได้แปลว่าแค่ลัทธิคอมมิวนิสต์พัง แต่หมายถึง เพดาน หรือกรงขังอันหนึ่งที่เคยกดทับความแตกต่างหายไป มันจึงเปิดโอกาสให้ความแตกต่างโผล่ขึ้นมา

การเถลิงอำนาจของเสรีนิยมใหม่ ในนามของโลกาภิวัฒน์ เราพบเลยว่าหลัง 1990 การพังทลายของเศรษฐกิจบางแห่ง มันเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนสยายปีก เข้ามาในทุกพื้นที่ อย่าง AEC ที่เรากำลังจะเห็น เราจะพบว่ากลุ่มทุนโดยเฉพาะ เอสซีจี จะกลายเป็น Big Brother (พี่เบิ้ม) ในอาเซียน โดยที่ไม่ได้แคร์ว่าพวกเราเป็นอะไร หรืออย่างซีพี

ทั้งหมดได้เปลี่ยนเวลา และพื้นที่ของโลกอย่างรวดเร็ว งานที่ได้รับการแปลแล้วของ David Harvey พูดถึง Space and Time ผมอ่านงานชิ้นหนึ่งคือเรื่อง The Culture of Speed เวลาที่เร็วขึ้น มันเปลี่ยนเวลาทำให้คุณอยู่ในขณะจิต ปัจจุบันนี้มากขึ้น ทั้งหมดนี้มันทำให้เราต้องการสภาวะอันใหม่

รัฐเองก็เปลี่ยน เสรีนิยมใหม่ทลายรัฐ ทลายเพดานที่เกิดขึ้น มันเกิดอะไรบ้าง ในความเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์ต้องการคำตอบใหม่ โลกใหม่ ย้ำว่า 1990 คือจุดเปลี่ยนของโลก ถ้าคุณกลับไปดูประเทศญี่ปุ่น 1990 เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้า ประเทศญี่ปุ่นไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ทำนองเดียวกัน ไทยก็เช่นกัน ประเทศไทยเปลี่ยน 1990 เป็นจุดเปลี่ยนของโลกที่สำคัญอันหนึ่ง

มันทำให้เกิดอะไร มันทำให้เกิดการเกิดขึ้นของความคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ใหม่ เราจะพบว่าการสะพรั่งขึ้นของการท้าทายความจริงของประวัติศาสตร์แบบเดิม ขยายตัวอย่างมากมาย แน่นอนฟูโกต์ (Michel Foucault) ซึ่งมีผลงานมาตั้งแต่ยุค 1960-1970 เป็นอิฐก้อนแรก แต่เริ่มขยับมามามีอิทธิพลหลัง 1990, ขณะที่ Hayden White บอกว่าประวัติศาสตร์คือวรรณกรรม, Francis Fukuyama หลังกำแพงเบอร์ลินพังเขาบอกว่าเป็นจุดจบของประวัติศาสตร์ การต่อสู้ระหว่างคอมมิวนิสต์กับเสรีนิยมสิ้นสุดแล้ว

จินตนาการเกี่ยวกับชาติเปลี่ยนโดยทั้ง Ernest Gellner, Benedict Anderson และ Liah Greenfeld ทั้งหมดอธิบายพลังของชาติ ความเป็นชาติอีกแบบหนึ่ง นอกจากนั้นแล้วชาติของคนข้างล่างก็โผล่ขึ้นมา งานของ Partha Chatterjee ชิ้นหนึ่งก็วิพากษ์งานของ Benedict Anderson ว่า Benedict ยังมองชาติจากศูนย์กลางของรัฐ

รวมไปถึงว่าความเปลี่ยนแปลงได้กลับไปสู่สิ่งสำคัญหนึ่งคือ Politics of Recognition ของ Charles Taylor เริ่มบอกว่าการพังทลายทั้งหมด เริ่มทำให้คนตระหนักรู้ สำนึกรู้อะไรที่มันแตกต่างไปจากเดิม ทั้งหมดมีความจำเป็นให้ต้องศึกษาประวัติศาสตร์กันใหม่ทั้งโลก

และการศึกษากันใหม่หลายแบบ กลุ่มหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือมีความพยายามดึง สถาปนา หรือสร้าง คือเข้าไปเถียงกับสิ่งที่เรียกว่า "ธรรมชาติของประวัติศาสตร์"โดย Keith Jenkins และ Alun Munslow สองคนนี้ และอีกหลายคน เขียนงานในช่วง 1990-2000 พิมพ์มาแล้ว 5-6 ครั้ง ทั้งหมดตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์แบบเดิม เพื่อหาคำอธิบายปรัชญาประวัติศาสตร์ ธรรมชาติวิชาประวัติศาสตร์ และวิธีการทางประวัติศาสตร์ใหม่

นี่คือการเปลี่ยน ทันทีที่โลกเปลี่ยนอย่างไพศาล มันจะเกิดการพูดถึงธรรมชาติของประวัติศาสตร์ ถ้าใครตามประวัติศาสตร์นิพนธ์ ขอให้นึกถึง Robin George Collingwood พูดถึง The Idea of History ซึ่งหนังสือนี้ขายดีมาก และมีคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้อีก ไม่ต่ำกว่า 50-60 เล่ม ที่อ้างอิงถึงอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดมีฐานอันหนึ่งคือ ทุกอย่างมีและเป็นประวัติศาสตร์และถูกสร้างโดยเงื่อนไขทางสังคมทั้งสิ้น ประวัติศาสตร์แบบสารัตถะนิยมถูกตั้งคำถามหมด แต่สำหรับวงการประวัติศาสตร์มันเข้าไปถกเถียงกับประวัติศาสตร์แบบขนบ Conventional History อย่างรุนแรง

เช่น Keith Jenkins cและ Alun Munslow ผู้เขียนถึง "ธรรมชาติประวัติศาสตร์"ได้มาดีเบตกับ Arthur Marwick ผู้เขียน The New Nature of History ซึ่งอายุมากแล้ว และสองคนแรกได้ดีเบตว่าสิ่งที่ Marwick อ้างอิงนั้นผิด

นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่ถูกศึกษาได้ขยายไปอย่างกว้างขวาง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หลังปี 1990 เราจะพบว่ามีนักคิดจำนวนโผล่มา และถูกลืม งานเรื่อง On Collective Memory ซึ่งเขียนในช่วง 1950-1960 โดย Maurice Halbwachs ถูกดึงมาอธิบายใหม่ จนเกิดกระแสอธิบายเรื่องความทรงจำไปทั้งโลก หลังปี 1990 ความทรงจำโผล่ไปอยู่ในงานเรื่อง Holocaust เรื่องค่ายในเยอรมันกว่า 70 เล่ม และโผล่ไปอยู่ในญี่ปุ่น พูดเรื่องเรื่องนานกิง เวลาที่เรา พูดถึงความทรงจำทางสังคม พูดถึงความทรงจำร่วมกัน ทุกอย่างสพรั่งหลัง 1990"

"เราพบว่าทันทีที่สังคมเกิดวิกฤต เราต้องการประวัติศาสตร์ใหม่ เพื่ออธิบายว่าเรามาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ที่เราจะเดินต่อไปได้ นอกจากนี้ยังเกิดสิ่งที่ศึกษาไปอย่างกว้างขวางเช่น "ระบอบอารมณ์ความรู้สึก"ซึ่งเดิมถูกถีบให้เป็นเรื่องวิชาจิตวิทยาอยู่นานมาก ถ้าเป็นพวกฟรอยด์ (Sigmund Freud) ก็เป็นจิตวิทยาปัจเจกชน จิตวิทยาบุคคล ถูกดึงขึ้นมาเพื่อบอกว่ามันเป็นเรื่องเชิงสังคม งานของ Norbert Elias พูดถึงการควบคุมของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถูกดึงมาปัดฝน ถือเป็นต้นตอการศึกษาเรื่องระบอบอารมณ์ความรู้สึก หลังจากนั้นงานของ Carol Zisowitz Stearns และ Peter N. Stearns และคนอื่นๆ เริ่มพูดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกจำเป็นต้องนำมาศึกษาด้วยเช่นกัน โดยในประเทศไทยยังไม่มีคนเปิดวิชานี้ มันกำลังดึงทำให้ประเด็นการศึกษาจำเป็นต้องมีประวัติศาสตร์

งานชิ้นหนึ่งเรื่องการปรับโครงสร้างเกษตร คุณไม่มีทางเข้าใจ Re: structuring สิ่งสำคัญอันหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การเกิดเสียงของคนที่ไม่มีเสียง อย่างที่สิงห์ สุวรรณกิจ นำเสนอเรื่อง Subaltern แนวคิดการศึกษา คนที่ไม่เคยถูกศึกษา สพรั่งทั่วไป อาจารย์ของทวีศักดิ์ เขียนเรื่อง Passion บทโศลกของพระคริสต์ในการเคลื่อนไหวเพื่อสู้กับสเปน ซึ่งต่างจากการสู้ของ Jose Rizal, Emilio Famy Aguinaldo หรือ Andres Bonifacio

เราไม่เคยคิดถึง สังคมหรืออารมณ์ที่อยู่ในบริบทเลย ดังนั้นเราจึงไม่เข้าใจอะไรเลย เราจึงไม่เข้าใจว่าผู้หญิงชนชั้นกลางจำนวนมากที่ยอมเสียเงินจำนวนมากเพื่อไปนั่งทำสมาธิ หรือลัทธิพิธีอุตรธรรม ฯลฯ เพราะเราไม่เข้าใจระบอบความเปลี่ยนแปลงของระบอบอารมณ์ความรู้สึกหรือประวัติศาสตร์ของระบอบอารมณ์ความรู้สึก

"ผมถือโอกาสพูดเรื่องนี้กับผู้สนใจประวัติศาสตร์ วันนี้เป็นความจำเป็นของสังคมไทยที่จะต้องเขียนประวัติศาสตร์กันใหม่ ทำให้ทุกอย่างมีประวัติศาสตร์เพื่อให้เราอธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบันได้กว้างขวางขึ้น ลึกขึ้นในทุกเรื่อง อธิบายในเรื่องเล็กๆ เช่น ผู้หญิงทำไมชอบใส่เสื้อห้าเอส ใส่กระโปรงสั้นและแหวก ทั้งที่ใส่ลำบากและต้องระวังการหายใจ นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องการประวัติศาสตร์แบบใหม่ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักประวัติศาสตร์แบบมืออาชีพก็ได้ ผมพูดกับนักศึกษาปีที่ 3 เมื่อหลายวันก่อนว่า คุณกำลังใช้ศาสตร์ของมนุษยชาติตอบเรื่องอื่นๆ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ของไทย แต่เป็นศาสตร์ของมนุษยชาติ นี่เป็นความจำเป็นของสังคม"

ส่วนที่สอง ในหัวข้อของงานวิจัย ถามว่าเราต้องการสร้างความรู้ใหม่หรือไม่ ต้องการ เราต้องการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่เกี่ยวกับชนบทไหม ต้องการอย่างยิ่ง พวกเราคุยกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงในชนบทตั้งแต่ก่อนเขาฆ่ากันปี 2553 เราพูดกันมานานว่าสังคมชาวนาไม่มีแล้ว พูดมาหลายปี แต่ไม่มีใครฟังเรา ไม่มีใครเชื่อเรา บางแห่งพูดว่า "ไม่มีหรือ เดี๋ยวกูพาไปดูชาวนา"ผมบอก "เขาทำอีกแบบหนึ่ง"บางคนก็บอกว่า "ถึงชาวนาเปลี่ยน จิตสำนึกก็ยังเป็นชาวนา"ผมก็บอกว่า "เอ้า ถ้าไปอย่างนั้นก็ไม่ต้องคุยกัน"

"เราพยายามผลักดันการแสวงหาความรู้ชุดนี้ว่า ชนบทมันเปลี่ยน ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งเกิดการฆ่ากัน เกิดสิ่งที่อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล บอกว่า เกิดความต้องการอธิบายว่าเสื้อแดงคือใคร ถึงเริ่มมีการให้ทุนสำหรับการวิจัย ช้าไปหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร สิ่งสำคัญคือสังคมไทยต้องการความรู้ใหม่ ประวัติศาสตร์ใหม่ ที่อธิบายความเปลี่ยนแปลงของชนบท และขณะเดียวกัน คีย์เวิร์ดอีกตัวหนึ่งคือ ความเปลี่ยนแปลงชนบท ไม่ใช่แค่ความเปลี่ยนแปลงในชนบท แต่ยังสัมพันธ์กับอนาคตประเทศไทย คือความเคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย"

"สิ่งที่พวกเราจะทำวันนี้ ในทีมวิจัยไม่ใช่แค่ศึกษาว่าชนบทเปลี่ยนอย่างไร แต่ความเปลี่ยนแปลงในชนบทนั้นมันปรับเข้าไปสู่ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสังคมกับรัฐอย่างไร ถ้าหากเราเข้าใจตรงนั้นได้ สิ่งที่เราจะมองต่อไปคือ หนทางที่เหมาะสมคืออะไร ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จะเถียงกันแค่ว่าเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งเป็นการเถียงเรื่องนี้ทั้งหมดเกิดขึ้นโดยปราศจากฐานความเข้าใจ"

อรรถจักร์ นำเสนอต่อไปว่า เลือกใช้คำว่า "Democracy on the move"ไม่ใช้คำว่า "Democratization"เหตุผลคือถ้าใช้คำว่า "Democratization"คือการไปคิดว่ามันมีประชาธิปไตยลอยอยู่ข้างหน้า แล้วเราจะเคลื่อนไปสู่ แต่ที่ใช้คำว่า "Democracy on the move"เพื่อบอกว่าทิศทางไปที่ไหนยังไม่รู้

"ดังนั้น หัวใจของเรา คือ การก่อร่างประวัติศาสตร์ชุดใหม่ของคนจำนวนมากของประเทศไทย แน่นอนมี 7 พื้นที่จังหวัด 21 พื้นที่การศึกษา แน่นอนไม่ใช่ตัวแทนทั้งหมด แต่น่าจะเป็นตัวแทนที่มากพอที่เราจะบอกได้ว่าจะทำความเข้าใจชนบทได้อย่างไร ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ ชนชั้นกลาง หรือคนกลุ่มหนึ่งที่สมชายพูดถึง สองนคราในหมู่บ้าน หรือสองนคราในรัฐ คนจำนวนมากที่มีอิทธิพล มีอำนาจ เขาไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง คุณชวน หลีกภัย เป็นคนพูดว่าคนยังไม่เข้าใจประชาธิปไตย ฯลฯ ที่ยังมีคนไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงในชนบทไทย"

"เราพูดเรื่องชนบทในภาพ ส.ค.ส. ในภาพสงบงาม ถูกตอกย้ำ ถูกฝังโดยกลุ่มวัฒนธรรมชุมชน ถูกทำให้เรารู้สึกว่าชนบทน่ารัก พวกผมเองในปีหลัง 2516 ก็เคยมีภาพชนบทแบบนี้ แต่พอลงหมู่บ้านไปก็พบว่าชาวบ้านก็ขี้โกงพอๆ กับเรา พวก พ.ค.ท. จำนวนหนึ่งก็อกหักเลย นึกว่าชาวบ้านเป็นผู้เสียสละ น่ารักทุกอย่าง ดังนั้นเราต้องเข้าใจ "เขา"อยู่ในความหมายของความเปลี่ยนแปลงในบริบททั้งหมด"

"สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนและเร็วมาก ภาษาอังกฤษต้องใช้คำว่า Rapidly มันเร็วมากจนทำให้งง ผมรู้สึกว่าสายวัฒนธรรมชุมชนไม่ทันความเปลี่ยนแปลง ผมพูดบอกเขาก็ยังไม่ฟังผม ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เรียกว่ามี 3 High ซึ่งยืมมาจากแนวคิดอานันท์ กาญจนพันธุ์ แต่ใช้กันคนละ High ผมคิดว่ามันมี High Mobility มันมีความเปลี่ยนแปลง มีการเคลื่อนย้ายสูงและเร็วมาก มีหนังสือเล่มหนึ่งดังมากพูดถึง Mobility เขาศึกษาทั้งโลก พบว่าทั้งโลกมี Mobility รวดเร็ว ซึ่งมันก่อให้เกิดปัญหา ทำให้เกิดสอง High Tension มีความตึงเครียดสูงมาก ซึ่งนำมาสู่ สิ่งที่สามคือ High Emotion เราเร่งความรุนแรงได้สูงขึ้น ลองนึกถึง เหตุการณ์ขับรถปาดหน้า ยิงกัน ฯลฯ 3 High เป็นตัวที่ก่อปัญหา เพราะเราเริ่มกลายเป็นหมาบนทางด่วน ไม่รู้จะเดินทางอย่างไร มันเปลี่ยนไปอย่าไร ท้ายที่สุดคนที่มี High Emotion จะอยู่ในภาวะ High Tension ลองนึกถึง เด็กแซ็บที่ไล่ฟันกัน เกิดความตึงเครียดเพราะมาหยามกัน"

"ในขณะเดียวกัน ก็มีกระแสที่ต้องการทำความเข้าใจ จึงมีการผลักดันหลายอย่าง เราเลือกชนบทเพราะอยากรู้ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงในชนบทที่ทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ขึ้นมา ซึ่งเขาอยู่ใน high mobility อยู่ในการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ในงานของอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล และอาจารย์เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช ชี้ให้เห็นว่า พี่น้องในชนบทเคลื่อนตัวเองและเคลื่อนเร็วขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเคลื่อน ได้มาพร้อมกับ “การเมืองเรื่องความหวัง” (Politics of hope) ว่า "ฉันจะหลุดจากความเป็นชาวนาที่ยากจน"สิ่งสำคัญคือ ถ้าหากเราไม่เข้าใจตรงนี้ เราจำเป็นต้องแสวงหาความเข้าใจ"

"เราหวังว่าจะหาทางออกให้แก่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เราหวังว่า ได้ไม่ได้ค่อยว่ากัน โดยทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในชนบท เพราะเราเชื่อว่าสังคมไทยต้องสร้างความรู้ที่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาเราไม่มีความรู้ที่เท่าทัน เราล้าหลังในเกือบทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ แต่ทั้งสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์โดยรวม ล้าหลัง เชย ล้าสมัย เป็นไส้ติ่งไม่มีประโยชน์อะไร"

อรรถจักร์กล่าวว่า งานวิจัยทั้ง 7 โครงการนี้หวังจะเห็นทุกอย่างที่เชื่อมกัน เพื่อตอบเรื่องความเปลี่ยนแปลงในชนบท เราอยากจะเปลี่ยนเสียที เรื่องมโนทัศน์สังคมชาวนา สังคมชนบท วัฒนธรรมชุมชนในชนบท เลิก เราต้องเข้าใจแล้วใช้มโนทัศน์อันใหม่ในการมอง ซึ่งสมชาย ปรีชาศิลปกุล ใช้คำว่า "ชนบทใหม่"ที่ต่อไปข้างหน้าอาจจะเปลี่ยนไปอีก ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทมันเบลอ ไม่เหมือนกันแล้ว ตอนนี้ที่ทุ่งเสี้ยว อ.สันป่าตอง ก็ทำโดนัท "Missis Doughnut"ขายให้คนในเมืองแถว รพ.สวนดอก ซึ่งย้อนแย้งจากความคิดที่ว่าคนในเมืองซื้อโดนัทไปให้คนนอกเมืองกิน"

เราหวังว่าเราจะสามารถทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งมากขึ้น และอธิบายได้ ประเด็นแรกในการอธิบาย คือ ความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในชนบทอย่างที่อาจารย์ทั้งสองท่านได้นำเสนอไปว่า มีความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งทำให้คนบางกลุ่มมีโอกาสและสูญเสียโอกาสในระดับที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และคนกลุ่มแต่ละคนที่เริ่มมีโอกาสนี้ เริ่มไปจัดตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมแบบใหม่ อปท. ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดตำแหน่งแห่งที่ เช่น ในบางพื้นที่ที่ศึกษาทำให้เห็นว่ามีกลุ่มบางกลุ่มรับจ้างพ่นยาอย่างเดียว เป็นต้น มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม ไม่ใช่ผู้ใหญ่บ้านเป็นใหญ่แล้ว นอกจากนี้ยังมีพลังอำนาจอีกจำนวนมาก"

"ในการเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่มันนำไปสู่การจัดตั้งทางสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งการจัดตั้งการเมืองที่เป็นสถาบัน เช่น อบต. เทศบาล ต่างๆ และยังมีการเมืองนอกสถาบัน ที่มีอำนาจกดดันมากขึ้น เช่น ในหลายพื้นที่พบว่า การเมืองนอกสถาบันคือ "ผู้หญิง"เอ็นจีโอที่ทำงานชนบทจำนวนมากบอกว่า ในการประชุมถ้าผู้หญิงเยอะกว่าผู้ชาย งานจะสำเร็จ ถ้าผู้ชายเยอะกว่าผู้หญิงนอกจากกินเหล้า แล้วยังดีแต่พูด ไม่ทำงาน"

"บนความเปลี่ยนแปลง 1-2-3 ประการที่กล่าวมา ไม่ได้เปลี่ยนแต่ในเชิงกายภาพ แต่เปลี่ยนลึกลงไปถึงความรู้สึกนึกคิด เวลาผมพูดถึง Structure of feeling แบบที่ยืมมาจาก Rymon William ซึ่งเขาใช้เพื่ออธิบายว่าในจังหวะความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ สำนึกเรื่องชนชั้นยังไม่ชัด แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอะไรทำนองนี้ ดังนั้น Rymon William ใช้เรื่อง Structure of feeling นี้ พูดถึงโครงสร้างที่เชื่อมกันของหน่วยต่างๆ ห้าหกหน่วยที่เชื่อมกัน สมมติมีห้าจุดจะเปลี่ยนให้คุณเป็น Citizen มันเปลี่ยนไปแค่สามจุด ยังไม่เปลี่ยนทั้งห้าจุด นี่เป็นโครงสร้างทางความรู้สึก ทำนองเดียวกัน ในความเปลี่ยนแปลงนี้ ถามว่าพี่น้องในชนบทที่อยู่ในความเปลี่ยนแปลงนี้เขาเปลี่ยนเป็น Citizen ไหม? คำตอบ คือไม่ใช่ เขาคิดเรื่องความเสมอภาคจริงๆ ไหม ไม่ใช่ เวลาเขาต่อต้านเรื่องสองมาตรฐาน เขาคิดถึงเรื่องการเป็นมาตรฐานเดียวจริงไหม ไม่จริง เพราะในเสื้อแดงเองก็หวังเส้นตรงไปอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์เดียวกับทักษิณ คนทีเคยไปสัมภาษณ์ทักษิณที่ดูไบ เห็นโทรศัพท์มือถือของทักษิณวางอยู่เต็มโต๊ะ ซึ่งสามารถต่อตรงกับขวัญชัย ไพรพนา สมมติ นั่นแปลว่าอะไร คือเขาก็หวังการอุปถัมภ์อีกแบบหนึ่งที่ให้เครดิตเขา ไม่ใช่แบบเดิม"

"ดังนั้นในเรื่อง Structure of feeling คนกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะศึกษาเสื้อแดง แล้วมองเสื้อแดงแบบโลกสวย พวกคิดแบบอุดมคติว่าเสื้อแดงคือพลังของสังคมที่จะนำมาซึ่งประชาธิปไตยนั้น เราต้องศึกษา Structure of feeling ที่พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเสื้อเหลืองเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเราก็รู้ว่าไม่ใช่ แต่เสื้อแดงก็ไม่ใช่ แน่นอน ความเสมอภาคที่เสื้อแดงต้องการก็มี ขอให้เป็นความเสมอภาคที่กูได้เปรียบ นี่คือสิ่งที่เป็นจริง ไม่เชื่อใครไปเป็นเสื้อแดงดูสิ ใครที่สามารถอ้างตัวเองติดกับทักษิณได้ คนนั้นจะกลายเป็นเสื้อแดงที่มีพลังมากกว่าคนที่อ้างไม่ได้ ส่วนที่เป็นเสื้อแดงเสรีก็ต้องกระด๊อก กระแด๊กไป แบบที่เราไปที่เชียงราย"

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของระบอบอารมณ์ความรู้สึก ถ้าเราศึกษาได้และทำให้เห็นชัดได้ เราก็จะตอบได้ว่าเวลาเราพูดถึง Active Citizen นั้นไม่ง่ายอย่างที่นักวิชาการพูด เราจำเป็นต้องเข้าใจภาวะที่ภาษาเหนือเรียกว่า "จะเหลื่อมจะเกื่อม"หรือ "อยู่ระหว่าง""In between"ยังไม่ไปตรงไหน ผสมกันไปมา เราต้องเข้าใจตรงนี้ เพื่อจะเข้าใจว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไร ในทั้งหมดนี้เปลี่ยน"การเมืองของประชาชน"ผมเลิกใช้ "การเมืองภาคประชาชน"เพราะถูกไฮแจ็คโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กปปส. นำไปใช้เป็นความหมายเดียว"

"ผมคิดว่าประชาชนเล่นการเมืองอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่แบบ "การเมืองภาคประชาชน"แบบเดิม แต่เล่นบนการเมืองบนเหตุผลที่เขาเลือกในชีวิตประจำวัน สมชาย ปรีชาศิลปกุล พูดชัดเจนว่าเวลาคนเลือก อบต. มาเลือกเกินร้อยละ 80 เพราะเขารู้ว่าจะจัดการหรือควบคุมอปท.ได้ง่ายกว่า ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แต่เขาก็จัดการได้"

"หากเราศึกษาประเด็นที่กล่าวมาได้เราจะเห็นแนวทางที่จะเดินต่อไปในอนาคต เราใช้เวลาและความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเป็นการตอบ ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน การพูดถึง Periodization ไม่ได้แค่การแบ่งยุคแบบเท่ห์ๆ แต่เป็นการแบ่งยุคที่เป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเกิดขึ้น และงานของเราคือศึกษาความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างจนถึงจุดหนึ่งมันเปลี่ยนโครงสร้าง นี่คือ Perodization การจัดตั้งทางสังคมเปลี่ยนอย่างไพศาลทั้งภายนอกและภายในสถาบัน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงภายในสถาบันเรามองผ่าน อปท. ส่วนภายนอกสถาบันมองอย่างซับซ้อนมากขึ้น เช่น องค์กรที่ชาวบ้านตั้งเอง ขบวนการเสื้อแดง ฯลฯ"

"ทั้งหมดของการจัดงานวันนี้เพื่อจะบอกว่า ความรู้ประวัติศาสตร์ที่มีความจำเป็น เราต้องสร้างกันใหม่ ส่วนต่อมางานของเราวันนี้ เรากำลังเดินเส้นแบบนั้น งานของอาจารย์สิงห์ สุวรรณกิจ เสนอวิธีคิดของกลุ่มที่มีพลังเรื่อง Subaltern ถ้าหากเราจะหยิบ Subaltern มาใช้ เราอาจจะศึกษาวรรณกรรมชาวบ้านในอีกมุมหนึ่ง เราอาจศึกษาเรื่องนินทาของเสื้อเหลือง เสื้อแดง อีกแบบหนึ่ง ว่าแตกต่างกันไหม มีความหมายอย่างไร Subaltern จะช่วยทำให้เราได้ยินเสียงของ "ผู้ไม่มีเสียง"ได้ชัดขึ้น ขณะเดียวกันงานอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ทำให้เราเห็นว่า การเปลี่ยนรูปของรัฐ มันมีผลต่อคนแนวราบมากมาย และคนเข้าสู่การแปรรูปรัฐมาสู่การร่วมสร้างรัฐ แทนที่จะคิดเรื่องคู่ตรงข้าม พวกเขา พวกเรา มันไม่ง่ายแบบนั้น คนจำนวนมากที่ถูกมองว่าเป็น "พวกเขา"เขาอยากเป็น "พวกเรา"ส่วน "พวกเรา"ก็สร้าง "พวกเขา"หลายชั้น ความซับซ้อนของความเข้าใจนี้ จะช่วยหลีกเลี่ยงการขีดเส้นของคู่ตรงข้าม"

"การมองแบบนี้ทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ของประวัติศาสตร์ ความรู้ประวัติศาสตร์จำเป็นต้องสร้างกันใหม่ ไม่ได้สร้างเพื่อทำลายล้างสังคม แต่จะต้องสร้างเพื่อจะช่วยกันมองว่า เราจะข้ามพ้นวิกฤตตรงนี้ไปได้อย่างไร ถ้าหากเราไม่สร้างความรู้ประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เราไม่มีวันที่จะก้าวข้ามพ้นวิกฤตนี้ได้ เพราะความไม่รู้ที่มันครอบงำบ้านเรา บังตาชนชั้นนำ บังตาคนไทย ทำให้ความขัดแย้งบ้านเราขัดแย้งอยู่ตรงนี้มาสิบปีแล้ว และเราไปไหนไม่ได้เพราะเราจมปลักอยู่ในความโง่เขลาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งน่าตกใจสำหรับประเทศนี้ที่ครั้งหนึ่งถือว่ามีก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ ในสมัยที่ Reynaldo Clemena Ileto เขียนเรื่อง Pasyon and Revolution นิธิ (เอียวศรีวงศ์"ในปี 2520 เริ่มเขียนหนังสือเริ่มสร้างความรู้ใหม่ น่าตกใจผมคิดว่าคนที่ติดตามงานอาจารย์นิธิสมัยนั้น 50-60% เป็น กปปส. สิ่งที่นิธิเขียนในคำนำหนังสือ "การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี"ทำนองว่าน่าตกใจที่งานเขียนของท่าน ไม่สามารถไปรื้อปมตาข่ายความทรงเดิมได้ แปลว่า เรากำลังตกอยู่ในตาข่ายความทรงจำอันเดิมที่ตอบอะไรไม่ได้แล้ว ตาข่ายเหล่านี้รังแต่จะดึงเราให้จมอยู่ภายใต้ทะเลของความเกลียดชังและจะนำไปสู่ความนองเลือดในอนาคต"อรรถจักร์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตุลาการศาลปกครองสูงสุดแถลงคดี 2 นศ.ยะลาถูกทหารซ้อม สั่งจ่าย 4 หมื่นจากเดิม 2 แสน

$
0
0

 

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2558 ที่ศาลปกครองสูงสุด มีการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกโดยตุลการผู้แถลงคดีจะทำการแถลงคดีที่ 2 นักศึกษายะลาอุทธรณ์กรณีที่ฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารว่าได้ทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานพวกเขาระหว่างถูกควบคุมตัว เหตุเกิดปี 2551 โดยทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 บุกเข้าบ้านพักและนำตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองและเพื่อนรวม 7 คนไปควบคุมตัวที่หน่วยทหาร มีการปิดตา ทำร้ายร่างกาย ใช้ของแข็งทุบตีผู้ฟ้องคดีและเพื่อนโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา และควบคุมตัวนานถึง 9 วันก่อนปล่อยตัว

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีในคดีดังกล่าวคือ นายอิสมาแอ เตะ , นายอามีซี มานาก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คือ กองทัพบก , ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คือ กระทรวงกลาโหม ที่ผ่านมาศาลปกครองพิพากษาเมื่อ 22 พ.ย.54 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชำระค่าเสียหายในมูลละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นเงินจำนวน  255,00 บาท และที่ 2 จำนวน 250,000 บาท  ส่วนคำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อ่านรายละเอียดที่นี่)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ผู้ฟ้องคดีมาศาลทั้งสองคนพร้อมทนายความและผู้สนใจเข้าฟังคดี รวมแล้วราว 30 คน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีไม่มาฟังการพิจารณา สำหรับการแถลงคดีในวันนี้  ไม่ใช่คำพิพากษาของศาล  ตุลาการผู้แถลงคดี ไม่ใช่องค์คณะตุลาการผู้พิจารณาคดี กระบวนการหลังจากนี้ตุลาการผู้พิจารณาคดีจะทำการนัดหมายวันฟังคำพิพากษาอีกครั้ง และคำพิพากษาอาจเหมือนหรือแตกต่างกับคำแถลงในวันนี้ก็ได้

ก่อนที่ตุลาการจะแถลงคดี ผู้ฟ้องคดีได้อ่านคำแถลงส่วนตนระบุว่า ขอแถลงให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาในประเด็นนี้เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ละเมิดเสียเอง และเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมมีส่วนช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ

จากนั้นตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านแถลงการณ์  รวม 3 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1. การควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากมีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมาน ประเด็นนี้ตุลาการ เห็นว่า การวินิฉัยว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีสิทธิ์ในการควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่นั้น ตัดสินจากบุคคลใดมีเหตุอันต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความปลอดภัยของประชาชนและต่อประเทศเจ้าหน้าที่สามารถนำตัวมาเพื่อควบคุมตัวและสอบสวน ข้อเท็จจริงพบว่ามีผู้ก่อความไม่สงบจำนวน 2 คนที่มีหมายจับแล้วพักอาศัยอยู่ในสถานที่นั้นจริง ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้สงสัยว่าผู้อื่นที่อาศัยร่วมอยู่ในบ้านหลังนั้นต้องสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน ตาม พ.ร.บ กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 16 ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ ดังนั้นในการตรวจค้นบ้านพักที่มีผู้ต้องสงสัยที่พักอยู่และการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่นั้นชอบธรรมแล้ว หากแต่ไม่รวมถึงการควบคุม/กักตัว เกินกว่ากฎอัยการศึกกำหนดไป 2 วัน รวมทั้งการสอบถามจนเกิดบาดแผลแก่ร่างกายผู้ฟ้องคดีที่ 1 ทำให้เจ้าหน้าที่หาได้รับการคุ้มครองจากมาตรา 16 ไม่ หากเจ้าหน้าที่มีกรณีสงสัยใหม่ก็หาได้เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวโดยขยายระยะเวลาไม่

ประเด็นที่ 2 ค่าเสียหายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 32 ที่ผู้ฟ้องคดียังไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลา ตุลาการวินิจฉัยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการซ้อมทรมานตามมาตรา 32 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ด้วย โดยตุลาการได้ยก พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ  มากำหนดเพดานการจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับค่าตอบแทนรายละ 45,400 บาท จากเดิมที่ศาลปกครองสงขลามีคำตัดสินให้ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นจำนวนเงิน  255,000 บาท และ 250,000 บาทตามลำดับ

สำหรับรายละเอียดการจ่ายค่าตอบแทนประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล รวมกับค่าฟื้นฟูร่างกายและจิตใจคนละ 30,000   บาท ค่าเสียหายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 32  คนละ 15,000 บาท ค่าขัดประโยชน์ในการทำมาหาได้ 200 บาท/วัน เป็นเงินคนละ 400 บาท

ประเด็นที่ 3 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จัดการให้ชื่อเสียงของผู้ฟ้องคดีทั้งสองกลับคืนดีโดยจัดให้มีประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อยสองฉบับ ฉบับละสามวันติดต่อกัน หรือหนังสือชี้แจง หรือหนังสือเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกฟ้องคดี ตุลาการแถลงให้พิพากษายืนตามศาลปกครองสงขลา โดยศาลปกครองสงขลาพิพากษาว่า เมื่อศาลได้วินิฉัยแล้วว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในการตรวจค้นและควบคุมตัวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเป็นกรณีที่อาจกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสองบ้าง แต่กรณีก็เป็นการใช้อำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้จะเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิบ้างแต่ไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นต้องกระทำและมีเหตุอันควรตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และการตรวจตราของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้นั้น เจ้าหน้าที่ย่อมต้องตรวจตราด้วยความระมัดระวังและละเอียดถี่ถ้วนกับทุกคน หาใช่แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแต่อย่างใดไม่ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสองในกรณีนี้หามีน้ำหนักให้รับฟังขึ้นไม่

ภายหลังฟังคำแถลงของตุลาการ นายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวว่า พอใจที่รัฐยอมรับว่าเป็นการทำละเมิดต่อเรา แต่ยังไม่พอใจเรื่องเงินชดเชย ขณะที่นายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องที่ 2 เห็นว่า การให้ชดเชยวันละ 200 นั้นน้อยเกินไป

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความผู้ฟ้องคดี ให้ความเห็นว่า โดยหลักการแล้วศาลสามารถใช้หลักกฎหมายเรื่องการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์มาวินิจฉัยคดีนี้ และใช้เป็นเกณฑ์กำหนดค่าเสียหายตามที่เห็นสมควรได้ การกำหนดค่าเสียหายโดยใช้กฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญาฯ อาจทำให้ดุลพินิจของศาลถูกจำกัดลงและทำให้ศาลไม่สามารถกำหนดค่าเสียหายหรือการเยียวยาความเสียหายได้ตามความร้ายแรงแห่งการละเมิด    อย่างไรก็ตาม  แถลงการณ์ของตุลาการดังกล่าวไม่ใช่คำพิพากษา

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์นายอิสมาแอเพิ่มเติมกรณีลักษณะเดียวกันในพื้นที่ นายอิสมาแอ กล่าวว่า ผู้ถูกซ้อมทรมานมีจำนวนมากและไม่มีใครฟ้อง นี่เป็นกรณีแรกของจังหวัดยะลา เป็นกรณีแรกของสามจังหวัดภาคใต้ที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีมาจนถึงศาลปกครองสูงสุด

รูซามัน สาเมาะ ผู้สังเกตการณ์คดีจากองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ตอบคำถามถึงความรุนแรงของการซ้อมทรมานที่คนในพื้นที่พบเจอว่า ผู้ที่ถูกซ้อมทรมานหนักที่สุดคือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ผู้เสียชีวิตก็มี บางคนเมื่อผ่านสภาวะนั้นมาแล้วก็จิตใจไม่ปกติ มีอาการหวาดระแวง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิทานจากห้องขังของ ‘กอล์ฟ เด็กปีศาจ’ : Little Foot ตอน 3

$
0
0

ทัณฑสถานหญิงกลาง

เรือนนอนเพชร R. 1/6

 

วันที่ 26 ธันวาคม 2557

ถึงคราวที่จะฝากนิทานต่อให้กับเด็กๆ แล้วนะ ฝากเธอด้วยนะคะ + หลังจากปล่อยขี้กองโตไว้เจ้าเท้าเล็กก็ยิ้มกริ่มอย่างภูมิใจ ปีศาจร้ายกำลังเคาะประตูหัวใจของมันแล้ว มันเดินทิ้งระยะห่างออกมาแต่ยังพอมองเห็นหมุดหมายที่ปล่อยเอาไว้ได้ มันขดตัวลงข้างพุ่มไม้แล้วรอคอยให้ใครสักคนหนึ่งเดินไม่ดูตาม้าตาเรือมาเหยียบเข้า..คงจะสนุกพิลึก…มันคิดพร้อมกับหัวเราะในใจ เจ้าปีศาจนั้นหัวเราะดังกว่ามันซะอีก55 แต่ความคิดและเสียงหัวเราะของมันก็ต้องหยุดชะงักลง…ฝูงงัว! ฝูงงัวของใครสักคนกำลังมุ่งมาทางนี้ และเจ้าลูกงัวสีขาวเหมือนสำลีที่ดูเหมือนจะเพิ่งออกมาจากท้องแม่ของมันได้ไม่นานพลันหยุดยืนอยู่ในองศาของกองอึและมันก็ยกหางของมันขึ้น “โถ่” เจ้าเท้าเล็กร้องขึ้นในขณะที่เจ้างัวน้อยปล่อยอึกองใหญ่กว่าลงมาทับอึกองนั้นของมันซะมิดเลย…หมดกัน !! แผนการที่วางเอาไว้ เจ้าเท้าเล็กกระโดดออกมายืนเท้าสะเอวจ้องมองฝูงงัวอย่างหงุดหงิด จมูกของมันย่นและฟุตฟิตๆ แล้วก็กระแทกเท้ากลับตัวเดินหน้ามุ่ยต่อไป “หมดกัน” มันคิด “เจ้างัวน้อยนั่นมันกล้าดียังไงมาปล่อยอึทับข้า” ความโมโหทำให้มันเดินเร็วขึ้นเพราะเบื้องหลังไม่มีเรื่องสนุกให้รอแล้ว..น้ำมูกใสๆไหลมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ว่ามันก็แค่ซืดกลับเข้าไปหรือไม่ก็เอาแขนเสื้อปาดออกมาข้างแก้มเท่านั้นแหละ แสงตะวันสีแดงส้มเริ่มแผ่เต็มขอบฟ้าแล้วและท้องของเจ้าเท้าเล็กก็ร้องจ๊อกๆ ใช่ ! นี่มันได้เวลากินข้าวแล้วละ มันเล็งหาต้นไม้ที่ร่มไม่หนาเกินไปนักเพื่อพิงตัวเองกับแสงแดดในขณะที่กินข้าว ห่อใบตองตึงถูกแกะออกข้าวเม็ดใหญ่อัดเต็มในนั้น กลิ่นใบตองยังติดอยู่ทุกครั้งที่เอาข้าวใส่ปากสลับกับปลาทูเค็มจากที่ไหนสักแห่งที่รถมีหลังคาเอาไปขายที่หมู่บ้านเดือนละครั้ง ปลาทูถูกกินไปแค่ครึ่งตัว แน่ละสิ มันเค็มนี่นา พอหนังท้องตึงหนังตาก็หย่อน พุงกลมๆป่องดันเสื้อตัวเล็กๆนั้นออกมา มันจึงเอนหลังกับขอนไม้แห้งแล้วหลับตาลง ปล่อยพุงให้เป็นอิสระ แต่เสียงนกน้อยก็ปลุกมันตื่นขึ้นเพื่อเดินทางต่อไป เจ้าเท้าเล็กออกจะหงุดหงิดกับคำสบประมาทของเจ้านกน้อยที่ว่าเท้าเล็กๆของมันคงเดินไม่ถึงไหน “โถ่ เจ้านกตัวจ้อยคอยดูเถอะแล้วจะรู้ว่าเราเดินเร็วแค่ไหน” มันขมวดคิ้วหน้ายุ่งมุ่งตรงไปตามทาง พร้อมกับแสงของตะวันที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นและเสียงหอบหายใจทางปากเป็นจังหวะ

 

ขญ. ภรณ์ทิพย์ มั่นคง

ป.ล.โปรดใช้ถ้อยคำที่สุภาพและถูกหลักภาษาไทย

 

หมายเหตุ : นิทานจากผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ภรณ์ทิพย์ หรือ กอล์ฟ วัย 26 ปี เพื่อนๆ มักเรียก กอล์ฟ เด็กปีศาจ ปัจจุบันถูกคุมขังฝากขังครบ 5 ผลัดแล้ว อัยการขอขยายเวลาฝากขังอีก 2 ผลัดก่อนมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ภายในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ที่ผ่านมาทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการประกันตัวรวมแล้ว 4 ครั้ง ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว 3 ครั้งแต่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันเนื่องจากเป็นคดีร้ายแรง เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี

กอล์ฟถูกจับกุมจากข้อกล่าวหามีส่วนร่วมในละครเจ้าสาวหมาป่า จัดแสดงในงานรำลึก 14 ตุลาคมปีที่แล้ว

เธอมีพื้นเพเป็นชาวพิษณุโลก ครอบครัวทำไร่มันสำปะหลัง จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ทำค่ายอาสาต่างๆ มาตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 5 จนปัจจุบัน มีความสามารถในศิลปะหลายแขนงทั้งวาดภาพ เขียนนิทาน แต่เธอดูจะหลงรักศาสตร์การแสดงเป็นพิเศษ เคยก่อตั้งประกายไฟการละคร ก่อนจะปิดตัวไปในปี 2555

ครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ถึงความใฝ่ฝันไว้ว่า “อยากไปเล่นละครในต่างจังหวัด อยากเล่นในที่ที่ต่างกัน และที่สำคัญอยากเล่นให้เด็กๆ ดู เราอยากจะเล่านิทานเรื่องใหม่ให้เด็กๆ ฟัง เป็นนิทานของคนธรรมดาที่เปลี่ยนโลกได้”

ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เธอเขียนนิทานส่งให้ผู้ใกล้ชิดเป็นตอนๆ บอกเล่าความฝันและส่งกำลังใจถึงผู้คนข้างนอกโดยเฉพาะเด็กๆ ที่เธอมักจะทำกิจกรรมด้วย ผู้ใกล้ชิดแจ้งด้วยว่า คำที่ขีดเส้นใต้คือคำที่เธอจำเป็นต้องใช้ภาษาสุภาพตามกฎระเบียบของเรือนจำทั้งที่ตั้งใจว่าจะไม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร่างแล้ว 45 มาตรา คำนูณเผย ห้าม ‘Hate Speech’ และเพิ่มคำว่า ‘เพศสภาพ’ ลงใน รธน. เป็นครั้งแรก

$
0
0

คำนูณเผย รธน. ใหม่ ให้ประชาชนใช้เสรีภาพได้อย่างเสรี แต่ห้ามสร้างความเกลียดชัง และเพิ่มหลักประกันความเท่าเทียมทางเพศ ทุกเพศไม่เจาะจงเฉพาะเพศกำหนด

 

14 ม.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่รัฐสภา คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวถึง ภาพรวมความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ได้มีการพิจารณาร่างบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญรายมาตราแล้วประมาณ 45 มาตราคือ ในภาค 1 หมวด 2 ว่าด้วยประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล

ในส่วนนี้จะแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่ผ่านมา โดยในรายละเอียดในหมวด 2 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของบุคคล มาตรา7 กำหนดให้บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียม กันชายและหญิงมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทั้งในเรื่องถิ่นกำเนิด ภาษา เพศ อายุ ทั้งนี้ได้มีการบัญญัติคำคำว่า เพศสภาพ ขึ้นมาใหม่ด้วยเพื่อครอบคลุมสิทธิเสรีภาพไม่เจาะจงเฉพาะเพศกำเนิดเท่านั้น

ส่วนอีกมาตราที่สำคัญ คือ มาตรา 14 ซึ่งบัญญัติขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับวิกฤติสังคมที่เกิดขึ้น โดยกำหนดว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนได้อย่างเสรี โดยไม่สามารถจำกัดเสรีภาพได้ เว้นแต่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงสิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ซึ่งบทบัญญัตินี้สอดคล้องกับกฎหมายสากลเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า คำนูณกล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้การบัญญัติเรื่องขอบเขตของเสรีภาพนั้น ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็เคยบัญญัติไว้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นการบัญญัติเรื่องHate Speech หลังการสร้างความเกลียดชังไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญยังไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องมีความผิดทางอาญาแต่อย่างใด แต่อยู่ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะนำไปพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องตระหนักว่าการบัญญัติขอบเขตของการแสดงความคิดเห็นมากไปก็อาจจะเป็นการจำกัดเสรีภาพ และมีบทบัญญัติขัดกันเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปช. เห็นค้านรัฐบาล เตรียมส่งรายงานปม เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21

$
0
0

วิป สปช.เตรียมส่งรายงานความเห็นเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ให้นายกรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้ ระบุขึ้นอยู่กับนายกฯ และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จะเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบที่ 21 หรือไม่

14 ม.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า อลงกรณ์​ พลบุตร โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ วิปสปช. แถลงว่า หลังจาก สปช. ส่วนใหญ่ มีมติไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมากและ คณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช. ที่จะให้มีการเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ด้วยระบบไทยแลนด์ทรี พลัส ทางคณะกรรมาธิการฯจะส่งรายงานความเห็นดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรีภายใน สัปดาห์นี้ จากนั้นขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่จะ พิจารณาว่าจะเดินหน้าการเปิดสัมปทานปิโตเลียมรอบที่ 21 ต่อไปหรือไม่ แม้จะมีการประกาศเชิญชวนเอกชนให้มาร่วมลงทุนแล้วก็ตาม แต่ถือเป็นสิทธิของรัฐที่จะพิจารณายกเลิกได้โดยไม่มีผลกระทบใดๆ

อย่างไรก็ตาม  ประเด็นนี้กรรมาธิการพลังงานก็ไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ทั้งหมดตั้งแต่ แรก และยังสงวนความเห็นไว้ โดยมีเหตุผลเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานว่าปริมาณพลังงานที่สำรวจได้จะเหลือ ใช้ไม่เกิน 8 ปี และยังไม่มีความชำนาญการเท่าที่ควรในระบบแบ่งปันผลผลิต

โฆษกวิปสปช. กล่าวด้วยว่าในวันพรุ่งนี้ เวลา 14.30 น. วิษณุ เครืองาม จะมาหรือกับสปช. โดยมีเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสปช. และประธานกรรมาธิการทุกคณะจะได้ร่วมประชุมกันในการดำเนิน ซึ่งจะมีทั้งข้อเสนอปฏิรูปเร็ว และข้อเสนอต่าง ๆ ในการดำเนินการประสานร่วมกัน

ทั้งนี้ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้พิจารณารายงานศึกษาเรื่องการเปิดสัมปทาน ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมากเป็นผู้เสนอไปแล้วเมื่อวานนี้ โดยที่ประชุมได้มีการลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. เสียงข้างมาก ซึ่งจะให้มีการเดินหน้าสัมปทานพลังงานรอบที่ 21 ด้วยคะแนน 79 ต่อ 130 คะแนน งดออกเสียง 21 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 230 คน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.แก้ไขสภาพพนง.รัฐวิสาหกิจเป็นเสมือนข้าราชการ วิปรบ.เห็นชอบขึ้นเงินเดือน ตำรวจ ทหาร ครู ร้อยละ 4

$
0
0

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุณสมบัติกรรมการพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อแก้ให้มีสภาพการทำงานเหมือนข้าราชการพลเรือน วิปรัฐบาลเห็นชอบขึ้นเงินเดือนข้าราชการครู ตำรวจทหาร ร้อยละ 4

วานนี้(13 ม.ค.58) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุณสมบัติกรรมการพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อแก้ให้มีสภาพการทำงานเหมือนข้าราชการพลเรือน เช่น ข้าราชการกระทำผิดไม่ร้ายแรงและเมื่อถูกลงโทษศาลจะให้รอลงอาญา และข้าราชการยังสามารถดำรงตำแหน่งความเป็นข้าราชการและทำงานต่อไปได้ ขณะที่ผู้บริหาร พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องรับโทษแรงกว่าหรือให้ออก จึงแก้ไขให้มีสภาพเหมือนกับข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจ

น.พ.ยงยุทธ์ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการจ่ายเงินตอบแทนพิเศษให้แก่ผู้ปฏิบัติงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำหรับผู้มีเงินเดือน ค่าจ้างขั้นสูงสุดของระดับ วงเงินรวมไม่เกินร้อยละ 3 ของฐานเงินดือนหรือค่าจ้าง เพื่อใช้เป็นฐานเงินเดือนประจำปี รวมวงเงินค่าใช้จ่ายในการปรับเพิ่ม 152 ล้านบาท ขณะที่สำนักงาคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจให้ความเห็นว่าต้องปรับการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพราะการปรับเพิ่มค่าตอบแทนเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนค่าไฟฟ้าที่คำนวณเก็บจากประชาชนผู้ใช้บริการ

ขณะที่เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ 5 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อย ตำรวจ ทหาร และครูอีกร้อยละ 4 ตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีการอนุมัติไปแล้ว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการพิจารณาปรับระบบเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบให้ยุติธรรม เป็นธรรมมากขึ้นในอนาคต

สุวพันธุ์ กล่าวว่า การขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ รัฐบาลได้คำนวณการแบกรับภาระงบประมาณ ที่สำนักงบประมาณได้ชี้แจงกับคณะรัฐมนตรีไว้แล้ว อีกทั้งข้าราชการไม่ได้เงินเดือนสูง และครั้งนี้ปรับขึ้นเพียงร้อยละ 4 ถึงแม้จะช่วยไม่ได้เต็มที่ แต่ยังพอช่วยให้ข้าราชการดำรงชีพได้ดีขึ้นมาบ้าง รวมถึงจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

 

ที่มา สำนักข่าวไทยและ Voice TV

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วีรบูรณ์ วิสารทสกุล: หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน

$
0
0

วีรบูรณ์ วิสารทสกุล อภิปรายในการเสวนา "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน"อภิปรายการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยรอบ 2 ทศวรรษ แม้ผลการเติบโตทางเศรษฐกิจจะทำให้ความยากจนลดลง แต่ช่องว่างทางเศรษฐกิจยิ่งห่างกันมากขึ้น ผลวิจัยพบคนร้อยละ 50 รู้สึกว่าตัวเองยากจน พร้อมข้อเสนอว่าจะฟื้นฟูประชาธิปไตยด้วยการจัดการอำนาจแบบใด

คลิปการอภิปรายของวีรบูรณ์ วิสารทสกุล "หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน"

 

 

14 ม.ค. 2558 – ตามที่มีการจัดเวทีสาธารณะหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน"เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2557 ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งสมัชชาคนจนปีที่ 19 โดยการประชุมดังกล่าวจัดโดย สมัชชาคนจน ร่วมกับ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดยตอนหลังการปาฐกถาเปิด มีการเสวนาหัวข้อ “หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน” โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, วีรบูรณ์ วิสารทสกุล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วิทยา อาภรณ์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินรายการโดย อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

000

โดยการอภิปรายของวีรบูรณ์ วิสารทสกุล เขากล่าวว่า แม้ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงในการทำงานร่วมกับสมัชชาคนจน แต่ในฐานะคนที่สนใจติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของคนจน คนด้อยโอกาส และทำงานพัฒนาชนบทมาบ้างก่อนที่จะมาสอนหนังสือ ผมคงพอมีประเด็นแลกเปลี่ยนอยู่บ้าง ตามสติปัญญาจะอำนวย

"ผมขอเริ่มจากความเชื่อโดยพื้นฐานก่อนคือ ผมเชื่อว่า ความยากจน คนจน ความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนจนกับคนรวยนั้น มีส่วนอย่างมากจากการกำหนดนโยบายของรัฐ ดังนั้นการเข้าไปมีอิทธิพลต่อนโยบายรัฐ ไม่ว่าจะโดยอ้อมที่ผ่านการเลือกตั้งพรรคการเมืองเข้าไปเป็นรัฐบาล หรือ ผ่านทางตรง เข้าไปใช้กระบวนการเจรจา ต่อรอง กับภาคปฏิบัติของนโยบายรัฐ ผมถือว่าเป็นการฟื้นฟูประชาธิปไตยทั้งสิ้นและก็เชื่อว่าประชาธิปไตยทั้ง 2 รูปแบบ จะช่วยทำให้คำแถลงของสมัชชาคนจนที่ว่า “เราต้องการประชาธิปไตยที่กินได้ และการเมืองที่เห็นหัวคนจน” เข้าใกล้ความเป็นจริงได้มากขึ้นเรื่อยๆ"

ถ้ามองผ่านเรื่องของอำนาจ เราอาจพูดได้ว่า ประชาธิปไตยแบบหนึ่งเป็นแบบที่เราอยากจะสร้างอำนาจนำ ส่งตัวแทนเข้าไปมีอำนาจในรัฐ เพื่อออกกฎหมายและนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มันไม่ชอบธรรมไม่เป็นธรรมขณะที่อีกแบบหนึ่งเป็นแบบที่เราเรียกมันว่า เป็นการต่อรองอำนาจ หรือต่อรองอำนาจรัฐ ไม่ให้มันถูกใช้อย่างไม่เห็นหัวเรา ไม่ให้มันถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม บางพวกเท่านั้น ซึ่งในตอนท้าย ผมคงต้องวกกลับมาเพื่อตั้งคำถามว่าตามที่สมเกียรติ พ้นภัย กล่าวว่าสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองเปลี่ยน และความอ่อนล้าของสมัชชาคนจน ขบวนคนจน เราจะเลือกใช้อำนาจในรูปแบบใดเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย

วีรบูรณ์ เริ่มต้นอภิปรายจากมุมมองระดับกว้าง โดยระบุว่า เพื่อยืนยันว่า คนจนต่างหากที่มีทัศนะและปฏิบัติการต่อประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด ซึ่งเอาเข้าจริงคงมากกว่าที่ผมมีเสียด้วยซ้ำ งานวิจัยนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ Poverty, Participation, and Democracy: A Global Perspective ซึ่งมี อนิรุธกฤษณะ (Anirudh Krishna) เป็น บก. (2008) และเป็นทีมที่ทำงานวิจัยเชิงสำรวจเกี่ยวกับการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยของคนยากคนจนในประเทศที่ยังมีเศรษฐกิจไม่ดี ครอบคลุมตัวอย่างทั้งหมด 24 ประเทศจาก 3 ทวีป ได้แก่ ทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าคนจนในประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้ให้คุณค่าแก่ประชาธิปไตยด้อยไปกว่าคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าในประเทศเดียวกัน ขณะที่ มีความศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยของคนจนเท่าๆ กับประชาชนกลุ่มอื่นๆ และคนจนยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมเดียวกันมากนัก นักวิจัยยังชี้อีกว่า แม้ว่าอิทธิพลทางการเมืองของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ยังคงไม่หมดไป แต่มันกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยได้ค่อยๆ ปลูกฝังอยู่ในสำนึกและมีแนวโน้มที่จะพัฒนาดีขึ้นในระยะยาว

"แต่รูปธรรมในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผมเห็นว่าขบวนการสมัชชาคนจนได้สร้างคุณูปการต่อการเปิดพื้นที่ของสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยที่กินได้ให้กับสังคมไว้แล้ว โดยขบวนการชาวบ้านได้เข้าไปเรียกร้อง ต่อต้าน เดินขบวนเพื่อคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน นิคมอุตสาหกรรม โรงแยกกาซ โรงไฟฟ้า เหมือง ที่ดิน ป่าไม้ การค้าระหว่างประเทศ ยา เรื่องราวเหล่านี้มันได้โผล่ปรากฏบนสื่อทุกชนิด มันช่วยเปิดพื้นที่การรับรู้ของคนหนุ่ม คนสาว คนในเมือง ให้เห็นประชาธิปไตยในทางปฏิบัติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปจะสามารถเข้าไปมีส่วนอย่างแท้จริงในกระบวนการพัฒนาประเทศ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องลำบากแสนสาหัส และมีคนบางส่วนเห็นว่าเป็นการขัดขวางความเจริญของประเทศก็ตาม"

ในช่วงหนึ่งวีรบูรณ์อภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ของสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม และของรุ่นคน และความอ่อนล้าของขบวนคนจนและพี่เลี้ยง โดยการเปลี่ยนแปลงแรกที่ขอพูดถึง คือ สภาพการณ์ของคนจนในวันนี้ มีความแตกต่างจากเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้วอย่างมาก ตัวเลขทางสถิติชี้ให้เห็นว่า สังคมไทย มีคนจน และความยากจน ที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นการวัดจาก รายได้ตามเส้นความยากจน หรือ จะวัดจากรายจ่ายเพื่อการบริโภค โดยในปี 38 เรามีคนจนประมาณ 9-10 ล้านคน แต่ในปีนี้ คนจนลดลงเหลือไม่ถึง5 ล้านคน แม้ว่าตัวเลขจากแต่ละแหล่งข้อมูลจะไม่ตรงกัน แต่มันมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่ความรุนแรงของความยากจนในกลุ่มประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เส้นความยากจนในปีปัจจุบัน ก็พบความรุนแรงของความยากจน น้อยกว่า ประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เส้นความจนในปี 2538 เช่นกัน

หรือ งานศึกษาของ อ.อภิชาติ สถิตนิรามัย อ.ยุกติ ยุกดาวิจิตร และ อ.นิติ ภวัครพันธุ์ ใน ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย ก็ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมา เรียกว่า “ชนชั้นกลางรุ่นใหม่” ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงทำให้ความยากจนลดลงไปมาก ส่วนชนชั้นใหม่นี้จะมีประมาณ 40% ของครัวเรือนไทยในปี 2552ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคม ชนชั้นกลางใหม่ ซึ่งเกิดมาในช่วงที่รัฐธรรมนูญปี 2540 เปิดพื้นที่ทางสังคมอย่างกว้างขวาง

การเปลี่ยนแปลงประเด็นที่ 2 คือ พละกำลังของขบวนการคนจน กำลังอ่อนล้าลง เมื่อก่อนเราอาจเห็นสมาพันธ์ชาวไร่ชาวนาแห่งประเทศไทยเครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เครือข่ายสลัม ที่หากมีการเคลื่อนไหว ก็จะเป็นการเคลื่อนไหวกันทั้งประเทศ ทุกภาคพร้อมที่จะขยับ แต่เดี๋ยวนี้ ภาพการขยับทั้งประเทศแบบนั้นคงหาได้ยาก หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ซึ่งทั้ง อุเชนทร์ เชียงเสน / สุวิทย์ วัดหนูและ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ต่างมีข้อสังเกตไปในทางเดียวกันว่า ความอ่อนแอดังกล่าวเกิดจากปัจจัยภายใน ที่หลายกลุ่มปัญหามุ่งตอบสนองการแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้า ที่รัฐบาลทักษิณคอยจัดให้ มากกว่าจะเชื่อมโยงและพัฒนายกระดับการต่อสู้ในประเด็นเฉพาะของตนเองเข้ากับปัญหาเชิงโครงสร้าง

การเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่ 3 คือ การนิยามว่า เราเป็นใคร คนจน ขบวนคนจน ขบวนการภาคประชาชนที่เมื่อก่อน เราอาจพูดหรือนิยามตัวเองชัดและเต็มปากโดยเฉพาะในฐานะคู่ตรงข้ามกับรัฐ และสามารถบอกเล่าได้ว่ามีส่วนในการฟื้นฟูประชาธิปไตยอย่างไร

แต่มาในปัจจุบัน คำเรียกเหล่านี้มันถูกทำให้เบลอ หรือทำให้มีความหมายแตกต่างไปจากเดิมโดยฝ่ายอื่นๆ

ทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2548และ มวลมหาประชาชน (กปปส.) ในปี 2556ต่างก็ประกาศว่าตัวเอง เป็นขบวนการประชาชน เป็นการเมืองภาคพลเมือง แต่มันมีคำถามใหญ่ว่า เหตุใดคำว่า“ขบวนการประชาชน” ที่เคยอ้างว่ามีส่วนอย่างมากในการฟื้นฟูประชาธิปไตย จึงกลายมาเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเสียเอง

และที่ต้องยอมรับมากกว่านั้น ก็คือ ขบวนการคนจน / พี่เลี้ยง อย่าง NGO หรือนักวิชาการเองบางส่วนก็เข้าร่วมกับพันธมิตร เข้าร่วมกับมวลมหาประชาชน และอาจอยู่ในฐานะแกนนำเสียด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้ผมไม่ได้บอกว่าอะไรถูกหรือผิด แต่มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเราต้องทำความเข้าใจกับมันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

การเปลี่ยนแปลงประเด็นที่ 4 คือ ความเหลื่อมล้ำ โดยในท่ามกลางตัวเลข คนจน – ความยากจนที่ลดลง ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่ง อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร บอกว่าเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐที่มีลักษณะ ไม่เน้นการกระจายรายได้ ความมั่นคงอย่างทั่วถึง มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ใช้แรงงานราคาถูก ละเลยภาคเกษตร ส่งผลให้ความเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นถูกแบ่งปันไปอย่างลักลั่นความมั่งคั่งกระจุกตัวสูงอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อยส่วน อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็เรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่า “การโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยจากรัฐชาติไปให้ตลาด” จนเกิดภาวะ หนึ่งรัฐสองสังคม

ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2550 ได้สำรวจข้อมูลความมั่งคั่งของครัวเรือนไทยเป็นครั้งแรก ครอบคลุมเรื่องการเป็นเป็นเจ้าของที่ดินบ้านรถทรัพย์สินทางการเงินและอื่นๆ พบว่าช่องว่างระหวางกลุ่มคนมั่งมีที่สุดร้อยละ 20 กับกลุ่มคนมีน้อยที่สุดร้อยละ 20 สูงถึง 69 เท่า หรือเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน อันนี้ในเชิงตัวเลข อ.ผาสุกยังชี้ว่า นอกจาก ข้อเท็จจริงเชิงตัวเลขความมั่งคั่งแล้ว ยังมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของความไม่เท่าเทียมตกค้างอยู่ในสังคมด้วย โดยอ้างงานสำรวจของ TDRI ที่สุ่มตัวอย่างให้เป็นตัวแทนของทั้งประเทศพบว่ากว่า3 ใน 4 ของตัวอย่างที่สอบถามเชื่อว่าช่องว่างด้านรายได้สูงเกินไป/ 1 ใน 3 คิดว่าห่างกันมากจนรับไม่ได้สำหรับกลุ่มรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 สัดส่วนที่บอกว่ารับไม่ได้มีสูงถึงเกือบร้อยละ 50 และอ.ผาสุก ยังอ้างงานของอ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และ อ.พรชัยตระกูลวรานนท์ (2553) ซึ่งสุ่มตัวอย่างให้เป็นตัวแทนของทั้งประเทศเหมือนกันผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 50 บอกว่าตัวเองยากจนทั้งที่ตัวเลขของทางการบอกว่าคนจนมีร้อยละ 8 ทั่วประเทศ

การเปลี่ยนแปลงประเด็นที่ 5 นอกจากตัวเลขความเหลื่อมล้ำข้างต้นแล้ว อ.เสกสรรค์ ยังชี้ว่า ผลของ “การโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยจากรัฐชาติไปให้ตลาด” ทำให้เกิด

- ระบอบประชาธิปไตยที่ไร้อธิปไตยอันสำคัญในบางด้านบางส่วนไปเพราะถูกตลาดยึดตามกระแสโลกาภิวัตน์

- การใช้อำนาจของรัฐบาลประชาธิปไตยที่ขาดฉันทานุมัติได้แต่เอะอะก็อ้างความชอบธรรมจากการชนะเลือกตั้งสี่ปีครั้งและอ้างชาตินามธรรมลอยๆอย่างลวงตาและกลวงเปล่าเพื่อปัดปฏิเสธและกลบเกลื่อนผลประโยชน์รูปธรรมของชาวบ้านกลุ่มต่างๆท้องถิ่นต่างๆที่ถูกหาว่าเป็น “คนส่วนน้อย” ของชาติเสมอ

เหล่านี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงบางส่วนในด้านเศรษฐกิจสังคม และข้อจำกัดของประชาธิปไตยแบบตัวแทนในระบอบรัฐสภาไทย นอกจากนี้เรากำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของสิทธิเหนือทรัพยากรแบบเดิมซึ่งเป็นจุดกำเนิดของสมัชชา เช่น กลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน แรงงานนอกระบบยังขาดหลักประกันรายได้รองรับเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งกำลังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครอบครัวที่วัยแรงงานน้อยลงแต่ต้องรับผิดชอบผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มากขึ้น ซึ่งยิ่งสูงอายุก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และไม่มีใครดูแล

“ส่งท้าย จะฟื้นฟูประชาธิปไตยด้วยการจัดการกับอำนาจแบบใด? เมื่อก่อนเรากำหนดตัวเองได้ชัดในฐานะคู่ตรงข้ามของรัฐ แต่ปัจจุบันนิยามแบบนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก ข้อเสนอหนึ่งของ อ.เก่งกิจ และเควินฮิววิสัน (ในงาน “บทวิพากษ์ : การเมืองภาคประชาชนในประเทศไทย ข้อจำกัดของแนววิเคราะห์และยุทธศาสตร์การเมืองแบบ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบ”) ได้เสนอให้ขบวนคนจนกลับมารื้อฟื้นการเมืองของการแบ่งขั้วทางชนชั้น การมีพรรคการเมืองของชนชั้นล่าง แต่จะเป็นไปได้อย่างไรเมื่อแต่ละชนชั้นแตกย่อยมีหลายอุดมการ แบบที่สมชาย (ปรีชาศิลปกุล) พูดถึง ทั้งนี้ เกษตรกรแม้แต่ในหมู่บ้านเดียวกันอุดมการณ์ก็ไม่เหมือนกัน มีชาวนารวย ชาวนาจน อุดมการณ์ของชาวนาไม่เหมือนกันเลย นี่จึงเป็นความยากว่าจะพัฒนาพรรคการเมืองของคนจนในภาวะการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร

โดยส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อมั่นผ่านกระบวนการต่อรอง ถ้าสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง สามารถพูดคุย มีข้อมูล มีเหตุมีผล จะดึงให้คนที่ไม่ใช่คนจน อย่างทีผมพูดไปมันมีชนชั้นกลางใหม่ 40% มีคนในสังคมไทยอีก 50% ที่ตระหนักว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาและต้องการการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้ผมคิดว่า คือคนที่เป็นกำลังหลักของการเคลื่อนไหวสมัชชาคนจนในอนาคต ผ่านตัวโซเชียลมีเดีย อย่างที่ผมว่า คือทั้งความสัมพันธ์ของคน ความสัมพันธ์ของประเด็น เช่น ประเด็นเรื่องความสมบูรณ์ของระบบนิเวศท้องทะเล ความสมบูรณ์ของผืนป่า ผลกระทบชีวิตและสุขภาพของคนจนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้ถูกผนึกผ่านสิ่งที่ผมเรียกว่าโซเชียลมีเดีย มันผ่านทุกๆ นาที ผมคิดว่ากระบวนการเหล่านี้มันทำให้เรื่องของความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำมันโผล่ปรากฏ และจะมีพลังเอาคนอื่นๆ เข้าสู่กระบวนการต่อรองอำนาจกับรัฐได้มากขึ้น สิ่งนี้ผมอยากย้ำว่า เป็นสิ่งเดียวกับขบวนการคนจนได้ทำมาก่อนตั้งแต่ปี 2538 คือเอากระบวนการต่อรองบนท้องถนนผ่านไปบนสื่อแบบใหม่ ที่ทุกคนในประเทศนี้ คนทุกภาคการผลิต ทั้งคนขายของออนไลน์ที่บ้าน พนักงานออฟฟิศ หรือนักการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ ก็ใช้สื่อพวกนี้ เชื่อว่าสื่อพวกนี้มีพลังถ้าเราใช้กับคนกลุ่มที่เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาและต้องการแก้ไข

สำหรับการอภิปรายทั้งหมดของวีรบูรณ์ สามารถติดตามได้ที่นี่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษกศาลยุติธรรมจะสอบคลิปฟิตเนสฉาว-หากมีผู้พิพากษาเกี่ยวข้องจะโดนโทษทางวินัย

$
0
0

โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่าจะตรวจสอบคลิปฟิตเนสเปลือย หากพบว่ามีผู้พิพากษาเกี่ยวข้องจะตั้งกรรมการสอบเอาผิดทางวินัย ด้าน "ธานี เทือกสุบรรณ"ปฏิเสธไม่ใช่คนในคลิป และมีผู้ไม่ประสงค์ดีใส่ร้าย

14 ม.ค. 2558 - มติชนออนไลน์รายงานว่า นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม  กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวว่ามีผู้พิพากษาอยู่ร่วมในคลิปที่มีหญิงสาวเปลือยกายในร้านนวดแผนไทยแห่งหนึ่งว่า กรณีที่มีการกล่าวอ้างใดๆ ถึงความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของผู้พิพากษา ทางสำนักงานศาลยุติธรรมจะตรวจสอบตามขั้นตอนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยเบื้องต้นทางสำนักงานศาลยุติธรรมจะทำการตรวจสอบคลิปดังกล่าวว่ามีผู้พิพากษาอยู่ในคลิปและเหตุการณ์นี้ด้วยจริงหรือไม่ และหากข้อเท็จจริงพบว่ามีผู้พิพากษาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยจริง ตามขั้นตอนก็จะทำการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ข้อสรุปเป็นที่ยุติ   ซึ่งหากพบว่าผู้พิพากษาคนใดมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยก็จะเสนอคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)  ดำเนินการทางวินัยตามขั้นตอนต่อไป

ก่อนหน้านี้ ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า นายสุรพันธุ์ สุรวิวัฒนาพงศ์ เจ้าของสถานบริการดังกล่าว ยอมรับว่าเป็นร้านของตนจริง เรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมาลูกค้าขาประจำเข้ามาติดต่อว่าจะขอจัดงานเลี้ยงภายในร้าน แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่ารูปแบบของงานเป็นอย่างไร และได้ อนุญาตไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นลูกค้าจัดหามาเอง

ส่วนายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ปฏิเสธว่าไม่ใช่คนในคลิป และมีผู้ไม่หวังดีส่งข่าวใส่ร้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ ยุกติ มุกดาวิจิตร: มองรัฐประหารในระยะใช้ ม.112เพื่อเปลี่ยนผ่าน

$
0
0


นับถึงตอนนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการกับผู้กระทำที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 แล้วกว่า 1 หมื่นราย แถมสตช.และหลายหน่วยงานยังวางมาตรการเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้ฝ่าฝืนมากขึ้น

แต่ตัวเลขผู้กระทำความผิดก็ไม่ได้ลดลงเลย หลังรัฐประหารตัวเลขกลับเพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจผู้กระทำความผิดในคดีนี้กลับไม่ถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมตามปกติ โดยมีการย้ายการพิจารณาคดีเหล่านี้ไปยังศาลทหาร “ผศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร” อาจารย์พิเศษภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา มองปรากฏการณ์นี้ผ่านกระบวนการยุติธรรมหลังการรัฐประหารในคดีเหล่านี้อย่างน่าสนใจ


ตั้งแต่หลังรัฐประหารมีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากขึ้น ส่วนหนึ่งบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ต่อต้านการรัฐประหารมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร
มีการใช้กฎหมายนี้ประกอบกับเหตุผลของการรัฐประหารแทบทุกครั้ง แทบทุกครั้งมักอ้างว่า เพื่อปกป้องสถาบัน แต่คราวนี้ต้องแตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ ครั้งนี้จะเห็นการไล่ล่าด้วยการอ้างกฎหมายอาญามาตรา 112 มากเป็นพิเศษ ชัดเจน และจริงจังเป็นพิเศษ เป็นที่น่าสังเกตแตกต่างการรัฐประหารครั้งก่อนๆ ค่อนข้างชัดเจน กลุ่มคนที่ถูกไล่ล่าก็น่าสนใจ เพราะมีการกระจายไปของคนหลายๆ กลุ่ม ในภาพรวมค่อนข้างชัดเจนว่า คนเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบัน พร้อมกับว่า เขามักเป็นกลุ่มคนต่อต้านการรัฐประหารไปด้วย เหมือนกับว่าในแง่หนึ่ง ก็คือ คดี 112 ถูกเอามาใช้เป็นข้ออ้างที่จะกีดกันการต่อต้านการรัฐประหารไปในตัว

หลังรัฐประหารมีการไล่ล่าเกิดขึ้นเข้มงวดมองว่า เป็นเพราะอะไร
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ความชอบธรรมในการรัฐประหารครั้งนี้มีค่อนข้างต่ำ จึงต้องหาแหล่งอ้างอิงที่จะปกป้องตัวเอง แต่ทุกครั้งจะต้องอ้างเรื่องนี้แหละ แต่คราวนี้มันไม่ใช่ชัดเจน อย่างการรัฐประหารคราวที่แล้วก็จะไปจัดการนักการเมืองมากกว่า เช่น การยึดทรัพย์ กระบวนการยึดทรัพย์โดดเด่นมาก มีความพยายามดำเนินคดีกับการเมืองเป็นจำนวนมาก แต่คราวนี้น้อยหรือแทบไม่มีเลย เราจะเห็นว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดนไล่ล่าคนเดียว ส่วนคนอื่นๆ ก็ไม่มีเสียง แต่เรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์กลายเป็นประเด็นใหญ่มากขึ้น เหมือนกับว่า เขาเปลี่ยนเป้าหมายของการรัฐประหาร หมายถึงเปลี่ยนเหตุที่จะมาอ้างการรัฐประหารเป็นเรื่องปกป้องสถาบันมากกว่า

“ผลอันหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ อาจจะมีการกีดกันนักการเมืองมากขึ้นในรัฐธรรมนูญ หรือประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพก็ถูกลิดรอน แต่ประเด็นที่ถูกนำมาชู คือ เรื่องสถาบัน ผมคิดว่า ถึงที่สุดมันเป็นสิ่งที่เขาแสดงให้เห็นว่า เขาทำบางอย่างจริงจังและมาลงตัวที่เรื่องสถาบันมากกว่า จึงถือเป็นข้ออ้างเพื่อให้การรัฐประหารมีข้ออ้างที่สมบูรณ์มากขึ้น”

จากการรวบรวมสถิติของเว็บไซด์ไอลอว์จะเห็นว่า การดำเนินคดีของผู้ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นสถาบันตามกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องไปขึ้นศาลทหารแทนที่จะต้องขึ้นศาลยุติธรรมตามขั้นตอนปกติ ถือเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของไทยและอาจทำให้กฎหมาย 112 น่ากลัวมากยิ่งขึ้นหรือไม่
ผมคิดว่า กระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีผู้ต้องหาในคดีหมิ่นสถาบันตามมาตรา 112 หรือเรื่องเกี่ยวกับสถาบันที่มีการนำพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้ด้วยถือเป็นการขยายขอบเขตการดำเนินคดีออกไปทำให้มีปัญหามากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นก่อนรัฐประหารแล้ว อย่างที่คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.) พยายามเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปกฎหมายมาตรานี้ เพราะเห็นว่า มีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่มีตั้งแต่ต้น ไม่ว่า เรื่องการจับกุม การรายงาน การแจ้งข้อกล่าวหา การไม่ให้ประกันตัว และการให้เหตุผลในคำตัดสิน

การย้ายการพิจารณาคดีในศาลทหารก็ยิ่งตอกย้ำการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากขึ้น เพราะศาลทหารไม่ใช่ศาลพลเรือนและยังมีสัดส่วนทหารมานั่งในคณะผู้พิพากษาด้วย ทำให้กระบวนการยุติธรรม มุมมองการตัดสินดำเนินคดีก็จะเอนเอียงไปด้านที่ไม่ให้หลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การที่ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ในคดีนี้ก็จะไม่ได้รับการประกันตัว เหมือนกับถูกตั้งธงไว้ก่อน เห็นได้จากคำพิพากษาที่มีมาก่อนหน้านี้

คดีอากง (นายอำพล ตั้งนพกุล) ก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น แม้ว่าตอนนั้นไม่ได้ใช้ศาลทหาร เราก็สงสัยในกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้วว่า การที่อากงไม่ได้รับการประกันตัวหมายความว่าอย่างไร ผมเคยเป็นคนหนึ่งที่ร่วมกับเพื่อนนักวิชาการอีกหลายคน ใช้ตำแหน่งไปขอประกันตัวอากง แต่ก็ไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนหนึ่งเหมือนกับว่าคนที่ผ่านกระบวนการนี้ก็ไม่ค่อยได้รับความยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งมีการพูดว่า คนที่ทำผิดก็ไม่ยอมรับผิด ทั้งที่ความจริงหลักของกระบวนการยุติธรรมต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า คนที่ถูกกล่าวหาทำผิดจริง ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ก็ถือว่า เขาไม่ผิด

“การที่ย้ายไปพิจารณาคดีนี้ในศาลทหารก็ยิ่งจะทำให้คดีเหล่านี้และสถานะเรื่องสิทธิเสรีภาพในการดำเนินคดีจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ”

ขณะนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พยายามใช้กระบวนการนี้มาดำเนินการกับผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันมากขึ้น ความชอบธรรมในการใช้กฎหมายมาตรานี้จับกุมแล้วส่งศาลทหารจะลดความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมในอนาคตหรือไม่ รวมทั้งจะส่งผลโดยตรงต่อคณะผู้ก่อการรัฐประหารหรือไม่
ผลจะใหญ่กว่านั้นด้วยซ้ำ ผมคิดว่า ผู้ก่อการรัฐประหารเขาคงไม่แคร์อะไรอยู่แล้ว เพราะเท่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ทั้งการปิดเว็บไซด์ของฮิวแมนไรท์วอร์ชและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางก็ทำให้เห็นว่า เขาคงไม่แคร์อะไร แต่ความเสียหายจะใหญ่กว่านั้น คือ ความเสียหายจะไปถึงตัวสถาบันที่ปล่อยปละละเลย คนจะมองว่า จริงเหรอที่ไม่มีใครสามารถแสดงออกได้เลย ไม่ใช่สิ่งที่ดีกับสถาบันเลย ขณะเดียวกันการที่เราไม่สามารถพูดถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้ แม้ว่าจะไม่ต้องไกลถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรที่เป็นประเด็นฟ้องร้องกันอยู่ อาจจะแค่สมัยรัชกาลที่ 4 ก็ทำไม่ได้เลยหรืออย่างไร เพราะตอนนี้ดูเหมือนพยายามขยายการคุ้มครองสถาบันไปกว้างมาก

“มันบิดเบือนไปหมดแล้ว ตรงนี้มีผลใหญ่มาก ทั้งต่อตัวสถาบันเองและสังคมไทยโดยรวม เพราะประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ถ้าเราไม่สามารถพูดถึงกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาได้ ความรู้ของสังคมไทยก็จะมีปัญหาแน่นอน เราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่มันเกิดขึ้นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้ วันหนึ่งอาจมีคนมาบอกว่า ข้อเสนอที่ว่าศิลาจารึกหลักที่หนึ่งเป็นจารึกปลอมถือเป็นการหมิ่นสถาบัน แล้วก็มีการฟ้องร้องกัน เท่านี้สังคมไทยก็จบแล้ว เราก็ไม่ต้องเรียนรู้อะไรกันแล้ว เราไม่ต้องรู้ความจริงอีกต่อไป เราก็ต้องอยู่กับประวัติศาสตร์ที่เป็นนิทานเหมือนกับอ่านนิทานหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ คงไม่สามารถเข้าใจอะไรได้อีกต่อไป จะเป็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ”

ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปจะส่งผลเสียกับสังคมไทยแน่นอนใช่ไหม
แน่นอน กระบวนการที่เกิดขึ้นทุกวันนี้กำลังเร่งให้เกิดสิ่งเหล่านั้น การเรียนการสอนเรื่องพวกนี้ก็จะลดน้อยลง หรือไม่คนก็ไม่อยากจะสอนกันแล้ว แม้แต่การสัมมนาทุกคนจะต้องระวังกันไปหมด เกร็งไปหมดไม่สามารถพูดได้ ถ้าพูดก็ทำได้เฉพาะด้านบวก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความรู้และความจริงในสังคมไทย เพราะเราไม่สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้อีกต่อไป

มองว่า บรรยากาศการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรีที่เคยเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่
ผมคิดว่าไม่มีทาง บรรยากาศแบบนั้นจะหายไปสิบปีเป็นอย่างน้อย การจะกลับมายากมาก เพราะทุกวันนี้ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่เรื่องนี้ แม้ว่าเราจะวิพากษ์วิจารณ์ทหารมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะมีปัจจัย 2-3 อย่าง  1.ทหารค่อนข้างมีความมั่นคงในการควบคุมกำลังของตัวเอง 2.ความมั่นคงของรัฐบาลมาจากการที่มีผู้สนับสนุนจำนวนมากที่เป็นคนที่มีอำนาจและสถานะทางสังคมที่สูง อย่างที่เราเห็นล่าสุด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ออกมาประกาศสนับสนุนการรัฐประหารอย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยดังๆ ก็ได้รับตำแหน่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) เหมือนกับไปร่วมมือกับ คสช.

ประการที่ 3 แรงต้านการรัฐประหารชุดนี้กระจัดกระจาย ขณะที่แรงต้านที่มีอยู่อย่างทรงพลังก็บอกว่า “ดูเขาไปก่อน ปล่อยให้เขาทำงานไป” อันนี้เห็นได้จากคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พูดกับบุคคลใกล้ชิดว่า จะไม่มีการเคลื่อนไหว ทำให้พลังในการเคลื่อนไหวพลิกเกมหรือเปลี่ยนสถานการณ์ในปัจจุบันก็จะไม่เกิดขึ้นง่ายๆถามว่า พลังมีไหม ตอบว่า มี ถ้าถามต่อว่า สังคมไทยเปลี่ยนไปไหมก็ต้องบอกว่า เปลี่ยน สังคมไทยมีการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยมากขึ้นหรือไม่ก็ต้องตอบว่า มี

“พลังปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงเขามีการปรับตัวเหมือนกัน เขาพยายามที่จะปรับตัวเพื่อให้เขาอยู่ได้ เราจึงเห็นความร่วมมืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่างน่าสนใจ เป็นการร่วมมือระหว่างฝ่ายที่เคยคิดว่า ก้าวหน้ามาก่อน อย่างเอ็นจีโอ นักวิชาการ ถ้าลำพังทหารทำด้วยตัวเองไม่มีทางทำได้ ถ้าทำได้ก็อยู่ได้ไม่นาน แต่มีสื่อมวลชน เอ็นจีโอ นักวิชาการจำนวนมากที่สนับสนุน ตรงนี้ต่างหากที่เป็นส่วนค้ำจุนและสนับสนุนการรัฐประหารให้อยู่ได้” 

ความจำเป็นในการดำรงอยู่กับการไม่ดำรงอยู่ของกฎหมายอาญามาตรา 112 อันไหนมีความสำคัญต่อสังคมไทยมากกว่ากัน
การที่สถาบันจะอยู่ได้ อย่างน้อยๆ เฉพาะการคุ้มครองในสถานะพิเศษ สถานะความเป็นประมุข ถ้าปฏิรูปในระดับน้อยที่สุด คือ ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ผมคิดว่าน้อยที่สุดแล้ว คือ การปฏิรูปในลักษณะคุ้มครองเป็นพิเศษ ซึ่งหลายคนไม่เห็นด้วย หลายคนเสนอว่า ควรยกเลิกไปเลย เพราะประเทศอย่าง ญี่ปุ่น อังกฤษ ได้รับความคุ้มครองแค่ในระดับของปัจเจกบุคคลธรรมดาทั่วๆ ไป คือ การอาฆาตมาตรร้าย ถ้าใครหมิ่นประมาทกัน คนที่คิดว่า ตัวเองหมิ่นประมาทก็ไปฟ้องศาลให้ดำเนินคดี แต่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ยังอนุรักษ์นิยมด้วยการให้สถานะพิเศษแต่ให้ลดลงจากปัจจุบัน เพราะดูจากประวัติศาสตร์ในการเขียนกฎหมายมาตรานี้ก็เกิดขึ้นในยุคเผด็จการและพยายามเพิ่มโทษขึ้นและทำให้ง่ายต่อการแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งเป็นผลเสียอย่างที่เห็นทุกวันนี้

หากมีการปฏิรูปอย่างน้อยก็ขอให้การดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะตอนนี้ขอบเขตในการฟ้องร้องเกินตัวบทกฎหมายไปแล้ว ทำไมไม่จำกัดให้ชัดเจน เพราะตามเนื้อกฎหมายคุ้มครองแค่ 3 พระองค์ กับ 1บุคคล คือ พระเจ้าอยู่หัว พระราชินี องค์รัชทายาทที่ประกาศเป็นองค์รัชทายาท และ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ตอนนี้มีเพียงแค่ 3 พระองค์เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองแต่เรากลับขยายไปไกลมาก คุ้มครองไปถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตแค่นี้ก็เห็นอยู่แล้วว่า เราไม่สามารถพูดถึงอะไรได้เลย

แย่ไปกว่านั้นเราไม่สามารถพูดถึงเรื่องสำคัญๆ เช่น การตรวจสอบเงินที่ใช้ไปกับโครงการพระราชดำริว่า ใช้อย่างไร ทั้งที่เงินเหล่านั้นเป็นงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน ทุกคนต้องสามารถพูดคุยถกเถียงได้ เพราะปกติเราสามารถวิจารณ์นโยบายของรัฐได้ แต่กับโครงการเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ ทั้งที่ไม่ใช่การหมิ่นประมาท แต่เป็นการพูดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใช้หลักฐาน ในเมื่อโครงการพระราชดำริเป็นโครงการที่มีผู้สนองพระราชโองการ การวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นการพูดถึงผู้สนองพระบรมราชโองการ

“ถ้าสังคมไม่สามารถตรวจสอบการใช้ภาษีได้เลย ก็กลับไปที่พื้นฐานว่า สังคมนี้ไม่ได้เป็นสังคมประชาธิปไตยถ้าเราต้องยกเว้นคนบางคนที่ถูกยกเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ยังสามารถใช้เงินงบประมาณแผ่นดินได้ ไม่ได้ถูกตรวจสอบก็ไม่ถูกต้อง”

ฟังดูเหมือนว่า การจะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกันบนดินได้ก็คงจะอีกนาน
ผมคิดว่า คงอีกนาน ประเด็นนี้เป็นเรื่องเดียวที่ยังใช้รับรองความชอบธรรมในการรัฐประหารอยู่ แม้มีประเด็นเรื่องคุณธรรม เราก็เห็นอยู่ว่า ตอนนี้ไม่ได้ใช้เล่นงานนักการเมืองที่คอรัปชั่นตรงไหน ไม่เห็นเลย มีแต่จะเล่นงานคุณยิ่งลักษณ์ แต่กลับเปิดโอกาสให้คุณยิ่งลักษณ์ไปชี้แจงในรัฐสภาอีก การรัฐประหารคราวที่แล้วไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ คราวนี้กลับเปิดโอกาสให้คุณยิ่งลักษณ์ไปจีบปากจีบคอจิกกัดคนที่กำลังจะถอดถอนต่อหน้าต่อตา หมายความว่า อย่างไร 

ปรากฏการณ์นี้ส่งสัญญาณอะไร
มองดูเป็นกระบวนการที่พยายามจะเล่นงานนักการเมือง แต่ไม่เด็ดขาด ถึงที่สุดก็จะมีคนออกมาพูดว่า การรัฐประหารครั้งนี้สูญเปล่า เสียของ เพราะนักการเมืองไม่ถูกเล่นงาน แต่อาจมีกระบวนการอีกแบบหนึ่งที่พยายามวางหมากเพื่อกันหรือลดทอนอำนาจของนักการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ เรายังไม่เห็นชัดเจน แต่แนวโน้มอาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ เพราะการโยนหินถามทางมาแต่ละเรื่องเป็นอย่างนั้น คือ การกีดกันอำนาจนักการเมืองในระยะยาวและเปิดโอกาสให้อำนาจของข้าราชการหรือข้าราชการเกษียณอายุกลับเข้ามาทำงานอีก หรือไม่ก็อาจมีการต่ออายุราชการในลักษณะแปลกๆ ที่อำนาจอาจจะตกไปอยู่ในมือของคนที่ไม่ได้เป็นบวกกับประชาธิปไตยเท่าใดนัก

เจ็ดเดือนที่ผ่านมารัฐบาลใช้กระบวนการไล่ล่าผู้ละเมิดกฎหมาย 112 แต่กลับไม่ได้เดินหน้าเอาผิดนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่น แนวโน้มจึงเห็นอยู่ว่า อาจจะเสียของ
ใช่ ผมว่าอาจจะเสียของในลักษณะแบบนั้น ผมคิดว่ามันแปลกๆ ทำให้เกิดคำถามว่า ตกลงการรัฐประหารครั้งนี้ประเด็น คืออะไรกันแน่ มีการพูดกันถึงประเด็นเรื่องการที่กำลังจะเปลี่ยนรัชกาลหรือเปล่า จึงทำให้เกิดการรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้น เพราะอาจเป็นประเด็นใหญ่จริงๆ สำหรับคนในที่ทำรัฐประหารครั้งนี้ สำหรับประเด็นเรื่องการกีดกันนักการเมืองที่มาด้วยกัน ถึงที่สุดก็ไม่เห็นทำอะไรชัดเจน ขณะที่การไล่ล่าผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 กว้างขวางถึงการตั้งเป้าดำเนินคดีกับคนที่หลุดคดีไปแล้ว

“ผมแปลกใจมากว่า ทำไมต้องไปยุ่งกับเขาด้วย ทั้งๆ ที่เขาก็หลุดคดีไปแล้ว คนที่ถูกเรียกตัวบางคนก็จึงระแวง บางคนก็เลยหนีไป บางคนยอมมอบตัวแล้วต้องมาประกันตัวอีก ผมขอยกตัวอย่างกรณีนักเขียนคนหนึ่งเดิมทีเขาได้รับพระราชทานอภัยโทษพ้นคดีไปแล้ว หลังรัฐประหาร ทหารกลับเรียกตัวเขา เขาก็อาจจะไม่แน่ใจ จึงหลบเลี่ยงการไปรายงานตัว หรือนักเขียนอีกคน ก่อนรัฐประหารถูกดำเนินคดีแล้วได้รับการประกันตัว หลังรัฐประหารเขาแสดงความเห็นในเวทีปฏิรูปที่รัฐบาลเปิดให้คนแสดงความเห็น แล้วเขากลับต้องถูกดำเนินคดีอีก ต้องเดือดร้อนหาคนมาช่วยใช้หลักทรัพย์ประกันตัวถึง 4-5 แสน แบบนี้ผมถามว่า ทำไปทำไม อยากให้สังคมรู้หรือว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว พวกคุณเล่นงานคนที่ไม่มีทางปกป้องตัวเองได้ดีพอ มันก็ชี้ให้เห็นว่า การใช้อำนาจของรัฐประหารครั้งนี้บิดเบี้ยว แต่คนหลายคนมองไม่เห็นปัญหาตรงนี้ หรือแม้กระทั่งกรณีที่คนที่อยู่ต่างประเทศก็พยายามเล่นงานให้ได้ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เป็นพลเมืองไทย อันนี้ก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก”

การไล่ล่าด้วยการใช้กฎหมายมาตรานี้ ต่างประเทศเขามองอย่างไร
ผมว่า เขาคงมองว่า ทำไมประเทศไทยปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกันมากขนาดนี้ ความจริงก็มีอนุกรรมการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่สนใจเรื่องนี้ แต่ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร แถม กสทช.ยังมีการรับลูก คสช.ด้วยการให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ปิดเว็บไซด์ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบัน โดยไม่ต้องดำเนินคดี มันเป็นเรื่องของความตื่นตระหนกร่วมของสังคมไทยต่อเรื่องสถาบันหรือเปล่า เป็นเรื่องที่ดูเหมือนไม่แคร์สายตาชาวโลกแล้วว่า เขาจะว่าอย่างไร แต่สำหรับสังคมโลกผมคิดว่า พวกเขาก็คงช็อก ว่าทำไมประเทศไทยที่เคยดูก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ บัดนี้จึงถดถอยลงขนาดนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎอัยการศึกกับเศรษฐกิจของชาติ

$
0
0

 

ตามที่มีข่าวว่า"นายกฯเปิดบ้านเกษะโกมลหารือนักธุรกิจ บิ๊กเดอะมอลล์ ชี้อัยการศึกไม่กระทบศก."  นั้น นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่นายกรัฐมนตรีไทยรับฟังเสียงของภาคเอกชนในการพัฒนาประเทศ  แต่ประเด็นหนึ่งที่กล่าวว่ากฎอัยการศึกไม่กระทบต่อเศรษฐกิจนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเป็นอย่างยิ่ง  ดร.โสภณ เกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิด จึงขออนุญาตเสนอข้อคิดเห็นในอีกแง่มุมหนึ่งเพื่อการพัฒนาประเทศชาติ

1. การที่ห้างสรรพสินค้าหนึ่งเติบโตถึง 25% ในปี 2557 นับเป็นเรื่องดีที่น่าเรียนรู้และสรรเสริญ แต่คงต้องมาศึกษาว่าการเติบโตดังกล่าวเกิดจากการลงทุนเพิ่ม ทำให้มีรายได้เพิ่ม หรือเป็นการเข้ามาจับจ่ายของคนไทยเองหรือนักท่องเที่ยวกันแน่

2. การเติบโตของภูเก็ตไม่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยรวมนักเพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศที่ห่างไกล (ชายแดน) จากประเทศไทย  แต่หากเป็นในกรณีพัทยาซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก ได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อการที่มีการประกาศกฎอัยการศึก

3. สำหรับเกาะสมุยที่ว่าสถานการณ์ดีนั้น เป็นความเข้าใจผิดเป็นอย่างยิ่ง  ราคาที่ดินสมุยตกต่ำลงไม่น้อยกว่า 20-30% บางบริเวณอาจลดต่ำลงถึง 50% ทั้งนี้เพราะการเดินทางไปลำบาก  นี่จึงเป็นสาเหตุที่ไม่มีตั๋วเครื่องบินเพียงพอที่จะเดินทางไปสมุย  สนามบินสมุยก็เป็นของบางกอกแอร์เวย์ การบินไทยและสายการบินอื่น คงบินไปลงไม่ได้ จึงทำให้นักท่องเที่ยวต้องเดินทางไปลงเครื่องบินที่สนามบินสุราษฎร์ และต่อเรือ รวมเวลาจากสนามบินสุราษฎร์ถึงสมุยเป็นเวลาอีก 3 ชั่วโมง ซึ่งนับว่านานเกินไป

4. ที่ว่านักลงทุนระดับโลกอย่างเจ้าของคริสเตียนดิออร์ บอกว่าเขาไม่ได้กลัวเรื่องกฎอัยการศึกนั้น อาจเป็นแค่ความเห็นของคน ๆ เดียว เพราะไม่ใช่นักธุรกิจระดับโลกส่วนใหญ่จะคิดเช่นนั้น และเป็นเพียงแค่การคิด โดยเขาก็ไม่ได้เข้ามาในประเทศไทยจริง  แต่กรณีนี้ก็เป็นข้อคิดที่ดีของไทยว่า หากไทยสามารถต้อนรับผู้มีชื่อเสียงระดับโลกให้มาท่องเที่ยวประเทศไทยได้ จะถือเป็นการโฆษณาประเทศในทางหนึ่ง  แต่อย่าได้นำงบประมาณแผ่นดินไปเชิญมหาเศรษฐีเหล่านี้มาเที่ยวโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

5. ปรากฏการณ์ที่ว่า “วันนี้เราอยู่ราชประสงค์ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาเดินปิดถนน . . . วันนี้เราไม่กลัว เรารู้สึกหน้าตาสดใสขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว” เกิดขึ้นได้ก็เพราะผู้ที่ปิดถนนเหล่านั้นต่างได้ดิบได้ดีในทางการเมืองในขณะนี้แล้ว  และโดยที่มีกฎอัยการศึก จึงทำให้อีกฝ่ายไม่อาจออกมาประท้วงได้นั่นเอง  แต่การสู้อยู่ข้างถนนแล้วรวย ได้อำนาจเช่นนี้ ไม่ควรเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีสำหรับประเทศไทย

สถานการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร

 1. หากพิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ปีละประมาณ 12 ล้านล้านบาท ปรากฏว่าปี 2557เติบโตราว 1% ทั้งที่ควรเป็น 4% หากไม่เกิดความไม่สงบทางการเมือง แสดงถึงความสูญเสียโอกาสไปถึง 360,000 ล้านบาท (3% ของ GDP)

2. นับถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2557 กรมการท่องเที่ยวเปิดเผยข้อมูลว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2557 มีประมาณ 22 ล้านหายไปจากปี 2556 ถึง 2 ล้านคน โดยคนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 44,000บาท ก็เท่ากับรายได้จากการท่องเที่ยวหายไปเกือบ 100,000 ล้านบาทแล้ว  ยิ่งหากในสถานการณ์ปกติปี 2557 น่าจะมีนักท่องเที่ยวราว 26 ล้านคน ก็เท่ากับไทยสูญเสียโอกาสไปเกือบ 200,000 บาทจากการท่องเที่ยวในภาวะที่ไม่เป็นปกติเช่นนี้

ต้นทุนในการใช้กฎอัยการศึกและโดยเฉพาะความไม่สงบทางการเมืองที่กลุ่ม กปปส. ได้ก่อขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 - พฤษภาคม 2557 ส่งผลเสียต่อประเทศชาติสูงเป็นอย่างยิ่ง  และทุกวันนี้เศรษฐกิจไม่เติบโตก็เพราะการประกาศใช้กฎอัยการศึก  ทำให้ประเทศอื่นช่วงชิงขึ้นหน้า ธนาคารโลกยังได้เคยประเมินสถานการณ์ไว้ว่าใน  2558 และ 2559 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 4.0-4.5% ในขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้จะเติบโตประมาณ 7.1% โดยเฉลี่ย

ขณะนี้ประเทศอินโดนีเซียใช้จุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวว่าประเทศของตนมีความมั่นคงทางการเมืองจริงตามธรรมชาติ มีการเลือกตั้งที่สูสีมากแต่เรียบร้อย (ไม่ใช่เพราะการมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก) (http://goo.gl/ODpOGW) และผลการสำรวจของนักลงทุนญี่ปุ่น ก็จัดอันดับประเทศไทยอยู่ท้าย ๆ ในขณะนี้ด้วย

ดังนั้นขีดความสามารถของไทยภายใต้กฎอัยการศึกจึงถูกจำกัดไว้ แม้ว่าประชาชนจะไม่เดือดร้อน ยังจะไปจ่ายตลาด (http://goo.gl/e4NW8c) และหายใจได้ตามปกติภายใต้กฎอัยการศึกก็ตาม

 

 

            

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 20494 articles
Browse latest View live